ยิ่งลักษณ์ขึ้นศาลฎีกาไต่สวนจำเลยนัดแรก
2016.08.05
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์ (5 สิงหาคม 2559) นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังการไต่สวนฝ่ายจำเลยนัดแรกของคดีรับจำนำข้าว โดยเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตนจะเป็นผู้ตอบข้อซักถามของอัยการฝ่ายโจทก์ทั้ง 165 ข้อด้วยตนเอง ทั้งยังระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดการรัฐประหารไม่ควรถูกนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า มีความมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวอ้าง และต้องการขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการที่จะให้รับผิดชอบค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว โดยอยากเรียกร้องให้มีการพิจารณาเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน
“มีความมั่นใจที่จะนำเสนอพิสูจน์ในเรื่องของไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐาน ด้านของเอกสารและพยานบุคคล จะทำให้เต็มที่ว่าดิฉันไม่ได้กระทำความผิดดังที่กล่าวอ้าง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
“ความเสียหายทางแพ่งจริงๆ แล้ว ตามหลักต้องประเมินเรื่องของคดีอาญาให้เสร็จสิ้นก่อน ในส่วนหนึ่งที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตก็คือว่า เอกสารที่ดิฉันได้ร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ไม่ได้กลับนำมารับพิจารณาแต่ใดๆ เลย เรื่องของการฟ้องร้องค่าเสียหายต่างๆ นั้น ดิฉันก็พ้นจากภารกิจหลังจากปฎิวัติแล้ว ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่ได้ดูแลรับผิดชอบ ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมได้ ก็ต้องขอความเป็นธรรมในส่วนนี้ด้วย” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ในวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากของชีวิต เพราะทั้งเหนื่อยและท้อแท้ แต่จะพยายามเข้มแข็ง และระบุว่าต้องการกำลังใจจากประชาชน ทำให้ก่อนขึ้นศาลในวันศุกร์นี้ มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีการตะโกนว่า “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงหน้าศาลฎีกาด้วย
คดีจำนำข้าว เป็นคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ที่ละเลยไม่ยับยั้ง “โครงการรับจำนำข้าว” ส่งผลให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2559 ศาลฎีการับฟ้อง
วันที่ 15 มกราคม 2559 เป็นวันที่อัยการนัดพยานฝ่ายโจทก์ไต่สวนนัดแรก โดยโจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 17 ปาก จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 43 ปาก โดยกำหนดวันไต่สวนทั้งหมด 21 นัด จนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง 1. ขอให้รอพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อน เพราะอยู่ในอำนาจศาลปกครองไม่ใช่ศาลฎีกาฯ และ 2. คัดค้านการเพิ่มเติมพยานบุคคลและเอกสารของ อสส. แต่ศาลฎีกาฯ มีมติยกคำร้องทั้ง 2 คำร้อง
29 กันยายน 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง อสส. กับพวก ต่อศาลอาญาชั้นต้น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ ก่อน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง และเพิ่มเติมข้อกล่าวหารวมถึงพยานหลักฐานกว่า 60,000 แผ่น ลงไปในสำนวน
6 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า อสส. จงใจกลั่นแกล้งอย่างไร และการเพิ่มเติมพยานหลักฐานก็เป็นไปตามกฎหมาย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธินำพยานหลักฐานมาหักล้างได้ในการขั้นตอนไต่สวนของศาลฎีกาฯ