คดี 6 ศพเวียดนามคืบ รพ. จุฬา เตรียมแถลงผลชันสูตรเร็ว ๆ นี้

เรดิโอเฟรีเอเชีย และเบนาร์นิวส์
2024.07.19
กรุงเทพฯ
คดี  6 ศพเวียดนามคืบ รพ. จุฬา เตรียมแถลงผลชันสูตรเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนเข้าร่วมการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สถานีตำรวจลุมพินี กรุงเทพมหานคร วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 หนึ่งวันหลังจากพบศพชาวเวียดนาม 6 ราย ในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
เอเอฟพี

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยในการแถลงข่าวความคืบหน้าการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตชาวเวียดนาม-อเมริกัน 6 คน ในโรงแรมย่านราชประสงค์ ระบุว่า แพทย์ได้เก็บตัวอย่างสารในร่างกายของศพทั้งหมดแล้ว และคาดว่าจะทราบสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ด้านนักวิชาการแนะ ไทยจัดการคดีอย่างโปร่งใส และคุ้มครองพยานให้ดี เพื่อภาพลักษณ์ประเทศ

“ขณะนี้ทั้ง 6 ศพ ถูกเก็บไว้นิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ส่วนการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจไซยาไนด์ภายในและภายนอกร่างกาย ทีมเเพทย์ได้เก็บตัวอย่างไปเเล้ว เพื่อตรวจสอบรายละเอียดในห้องปฎิบัติการ (ห้องแล็บ) คาดว่าจะทราบผลในเร็ว ๆ นี้” รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธ์ุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผย

รศ.นพ. ฉันชาย เปิดเผยข้อมูลในฐานะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รับศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงของกรณีการเสียชีวิตในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร

“ร่างของผู้เสียชีวิตทางนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ พร้อมจะส่งมอบคืนให้กับญาติ แต่จะต้องมีการหารือกับพนักงานสอบสวนอีกครั้งว่า จะส่งให้ญาติได้เลยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่ามีทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ได้เดินทางมาติดต่อกับนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาแล้ว ส่วนรายละเอียดไม่ทราบว่าญาติจะเข้ามาติดต่อรับวันไหน” รศ.นพ. ฉันชาย กล่าวเพิ่มเติม

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อขอความคืบหน้าทางคดีจาก พล.ต.ต. นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะหัวหน้าชุดคลี่คลายคดี แต่ไม่ได้รับการตอบรับ 

ก่อนหน้านี้ วันพุธที่ผ่านมา พล.ต.ต. นพศิลป์ ได้สรุปผลการตรวจสอบพยานและหลักฐานเบื้องต้น ระบุว่า ผู้เสียชีวิตหกคนเป็นคนเวียดนามสัญชาติอเมริกันสองคน และที่เหลืออีกสี่คนถือสัญชาติเวียดนาม

ร่างของทั้งหกคนถูกพบภายในห้องพักเลขที่ 502 พร้อมกับจานอาหาร และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เปิดเผยว่า พบไซยาไนด์ในแก้วเครื่องดื่ม และในศพของผู้เสียชีวิต เบื้องต้นสรุปว่า ผู้ก่อเหตุผสมไซยาไนด์ลงในเครื่องดื่มอาจเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีบุคคลอื่นเข้า-ออกจากห้องที่เกิดเหตุ

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต. นพศิลป์ เปิดเผยจากการสอบปากคำของญาติผู้เสียชีวิตว่า กลุ่มผู้เสียชีวิตมีความขัดแย้งเรื่องธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นมูลค่าร่วม 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตหกคนประกอบด้วย 1. น.ส. ธิ เหงียน เฟือง อายุ 46 ปี สัญชาติเวียดนาม 2. น.ส. ธิ เหงียน เฟือง ลาน อายุ 47 ปี สัญชาติเวียดนาม 3. นายดิน ซาน ฟู อายุ 37 ปี สัญชาติเวียดนาม 4. นายฮุง ดัง วาน อายุ 55 ปี สัญชาติอเมริกัน 5. น.ส. เชอรีน ชอง อายุ 56 ปี สัญชาติอเมริกัน และ 6. นายฮง ฟาม ธาน อายุ 49 ปี สัญชาติเวียดนาม 

ต่อมาในวันพุธ พ.ต.ต. ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เปิดเผยว่า ได้สอบปากคำนายฟาน หง็อก หวู อายุ 35 ปี ไกด์นำเที่ยวชาวเวียดนาม ซึ่งรู้จักกับผู้เสียชีวิต 

นายฟาน หง็อกระบุว่า ในวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 น.ส. ธิ เหงียน เฟือง ลาน ได้วานให้ตนเองไปซื้อยาบางชนิดในราคา 1.10 หมื่นบาท ซึ่งนายฟานอ้างว่า ได้วานให้นายไทเกอร์ (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นไกด์อีกคนไปรับยา และนำส่งให้ น.ส. ธิ เหงียน เฟือง ลาน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในย่านสุวรรณภูมิ 

ปัจจุบัน ตำรวจได้ตามหาตัวนายไทเกอร์ เพื่อสอบปากคำเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว

อ้างอิงจากรายงานข่าวของสำนักข่าวพีพีทีวี พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำนายไทเกอร์ ไม่พบความเกี่ยวข้องว่านายไทเกอร์และยาที่ น.ส. ธิ เหงียน เฟือง ลาน ฝากให้ซื้อมีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เชื่อว่า รัฐบาลไทยต้องพยายามจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพ เพราะอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

“สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดจะกระทบต่อความรู้สึกปลอดภัยในสังคม การจัดการคดีอย่างมีประสิทธิภาพจึงสำคัญมากต่อการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ไม่ให้เกิดซ้ำอีก ทางการไทยต้องเข้มงวดการควบคุมสารเคมีอันตราย และร่วมมือกับต่างประเทศปราบปรามการค้าผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ประชาชน” นายวรชาติ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 ชื่อของ น.ส. สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคม หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเบาะแสว่า แอมใช้ไซยาไนด์สังหารคนไปอย่างน้อย 13 คน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 ในพื้นที่นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี อุดรธานี และบึงกาฬ เพื่อหวังทรัพย์ 

ต่อมา แอมได้รับฉายาว่า “แอมไซยาไนด์” ถูกพูดถึงในฐานะฆาตกรต่อเนื่อง ปัจจุบัน น.ส. สรารัตน์ ถูกฟ้องในหลายข้อหา และคดีของเธอยังอยู่ในการพิจารณาของศาล

“การร่วมมือกับเวียดนามและหน่วยงานต่างประเทศต้องโปร่งใส และรักษาความลับข้อมูลอ่อนไหว ต้องดำเนินคดีนี้ด้วยความละเอียดรอบคอบที่สุด เพราะมีความอ่อนไหวเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่อาจต้องจริงจังมากกว่านี้คือ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพยาน เพราะสิ่งที่สื่อกำลังขุดคุ้ยกันอยู่ในตอนนี้สุ่มเสี่ยงกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากพอสมควร” นายวรชาติ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง