ศาลรับฟ้อง ทักษิณ คดี ม. 112 ก่อนให้ประกัน
2024.06.18
กรุงเทพฯ

ศาลอาญารับฟ้องคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ก่อนให้ประกันตัว หลังวางหลักทรัพย์ 5 แสนบาท โดยตั้งเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 สิงหาคม 2567
“ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด อายุมาก ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน อยู่กับครอบครัว” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาล
“โจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา จำเลยจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา” คำสั่งศาลระบุ
ในการปล่อยตัวชั่วคราว นายทักษิณได้วางหลักทรัพย์ 5 แสนบาท พร้อมด้วยหนังสือเดินทาง โดยศาลมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทราบ
ในวันอังคารนี้ นายทักษิณเดินทางไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในเวลาประมาณ 08.30 น. พร้อมด้วย นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ตามนัดของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ที่จะส่งตัวนายทักษิณฟ้องต่อศาล แต่นายทักษิณเลือกที่จะไม่พบกับสื่อมวลชน
“ท่านให้การปฏิเสธ ท่านไม่มีความเครียด เพราะท่านรักษาสุขภาพด้วยดี ท่านยืนยันเสมอว่า ท่านไม่ได้กระทำความผิด ไม่มีเจตนาที่จะกล่าวถึงบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 วันนี้ท่านก็มาด้วยความมั่นใจว่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายวิญญัติ กล่าวกับสื่อมวลชนหลังฟังคำสั่งศาล
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ได้ขอเลื่อนการส่งตัวฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ด้วยป่วยเป็นโควิด-19 กระทั่งเดินทางมาตามนัดใหม่ในวันอังคารนี้ ซึ่งศาลอาญาได้รับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1860/2567 ในข้อหา ม. 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ และนัดนายทักษิณในฐานะจำเลยให้มาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 สิงหาคม 2567
“ผมเชื่อและมั่นใจว่า พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ออส. ที่ผ่านมา ไม่ได้สอบสวน หรือทำให้สิ้นกระแสความที่ควรแสวงหามา ผมมั่นใจว่า ท่าน (ทักษิณ) ไม่ได้ทำ (ตามที่ถูกกล่าวหา)” นายวิญญัติ กล่าวเพิ่มเติม
คดีนี้สืบเนื่องจาก นายทักษิณ ถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อสส. รับฟ้องคดีของนายทักษิณในข้อหาฝ่าฝืน ม. 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่นายทักษิณลี้ภัยในต่างประเทศ
ต่อมา นายทักษิณ ได้ให้ทนายความทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ให้ปล่อยตัวนายทักษิณชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี เนื่องจากที่ผ่านมา นายทักษิณยังไม่มีโอกาสรวบรวมหลักฐานสำหรับคดีเพราะอยู่ในต่างประเทศ กระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 อัยการอนุญาตให้นายทักษิณประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี หลังวางหลักทรัพย์ 5 แสนบาท
ขณะที่ นายวรชัย เหมะ อดีต สส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเดินทางไปที่ศาลด้วย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “คนอย่างนายกฯ ทักษิณ ท่านจงรักภักดีต่อสถาบันอยู่แล้ว ท่านไม่เคยพูดพาดพิงถึงสถาบันในทางที่เสียหายเลย”
ทักษิณจะยังเคลื่อนไหวการเมืองต่อ
ด้าน รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า หลังจากได้รับการประกันตัวนายทักษิณจะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป
“เราคงเห็นการเดินหน้าเชิงรุกของคุณทักษิณต่อ เพราะในการประกันตัวไม่ได้มีเงื่อนไขห้ามการแสดงความเห็นทางการเมือง ขณะที่ การได้ประกันตัวของคุณทักษิณจะไม่มีผลต่อการทำงานของ กมธ. นิรโทษกรรม เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่แล้ว” รศ.ดร. ยุทธพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 8 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากในหลวง ร. 10 เหลือจำคุก 1 ปี การจำคุกดังกล่าวสืบเนื่องจากความผิดของนายทักษิณ ในคดีทุจริต 3 คดี ที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี

ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา นายทักษิณได้ลี้ภัยในต่างประเทศ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และถูกควบคุมไปฟังคำตัดสินของศาลทันที
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ไม่เคยได้นอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เพราะกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า นายทักษิณมีปัญหาสุขภาพ ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรณีที่เกิดขึ้นทำให้กรมราชทัณฑ์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก
หลังจากถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 6 เดือน กุมภาพันธ์ 2567 นายทักษิณได้รับการพักโทษ และเมื่อเป็นอิสระ นายทักษิณก็เริ่มพบปะผู้สนับสนุน นักการเมือง และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อประเด็นการเมืองหลายครั้ง
ผู้ต้องขังคดี ม. 112 รายอื่นยังรอได้ประกัน
นอกจากคดีของนายทักษิณ ในวันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง 12 คน ซึ่งรวมไปถึง นายอานนท์ นำภา จำเลยคดี ม. 112 จากการปราศรัยทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ปล่อยตัว
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,296 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี
“มีผู้ต้องโทษคดีการเมือง 42 คน จำนวนนี้ 24 คนอยู่ระหว่างขอประกันตัวสู้คดี 17 คนเป็นคดีเรื่อง ม. 112 ในปี 2567 ทนายความพยายามยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองไม่น้อยกว่า 60 ครั้ง แนวโน้มของการไม่ให้ประกันตัวระหว่างดำเนินคดีมีเพิ่มมากขึ้น” นายนิติธร สุรบัณฑิตย์ เปิดเผยผ่านยูทูบของศูนย์ทนายฯ
ด้าน น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจาก ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า การนิรโทษกรรมอาจเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
“นิรโทษกรรมเป็นข้อเสนอที่ต่ำที่สุดแล้ว นิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิก มาตรา 112 แต่เป็นการบอกว่า คดีต่าง ๆ ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านั้นควรได้รับโอกาสใหม่ ไม่ใช่การยกเลิก หรือแก้ไข ยกเลิกมาตรา 112 อาจเป็นแค่หนึ่งสิ่งที่ต้องกระทำ แต่การทำให้กระบวนการยุติธรรมกลับสู่รูปรอย กลับสู่ประชาธิปไตย ควรต้องมีหลายสิ่ง การนิรโทษเป็นจุดเริ่มต้นในการคลายความขัดแย้ง” น.ส. พูนสุข กล่าว
ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้นำ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมประชาชนที่มีประชาชนกว่า 3.5 หมื่นรายชื่อร่วมสนับสนุน ยื่นต่อรัฐสภา โดยร่างกฎหมายดังกล่าว จะยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทุกข้อหารวมถึงมาตรา 112
ขณะที่ หากไม่รวมร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ปัจจุบันมี ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอต่อรัฐสภาโดยพรรคการเมืองอีก 3 ร่าง คือ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล
ร่าง พรบ.สร้างสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ ร่าง พรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างไรก็ตามรัฐสภายังไม่ได้มีการอภิปราย หรือลงมติร่างกฎหมายทั้งหมด แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า จะมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 หรือไม่