คณะทำงานฯ ส.ส. ระบุ คนร้ายยิงเยาวชนเข้าขั้นโคม่าอาจมีเอี่ยวกับตำรวจ
2021.09.17
กรุงเทพฯ

คณะทำงานที่ศึกษากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า กลุ่มบุคคลที่ยิงเด็กชายวัย 15 ปี จนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนมีในอาการในขั้นโคม่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดินแดง
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. บัญชีพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดกว่า 50 ตัว ที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดที่เด็กชาย B (นามสมมุติ) ถูกยิงบนถนนมิตรไมตรี ฝั่งตรงข้ามกับ สน. ดินแดง พบว่ามีกลุ่มชายติดอาวุธรวม 12 คน อยู่ในข่ายต้องสงสัย และบุคคลกลุ่มนี้ อาจจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ยิงเด็กอายุ 14 ปี หน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 จนได้รับบาดเจ็บที่ไหล่ ในเวลาก่อนหน้านั้นเล็กน้อยอีกด้วย
“คณะทำงานตั้งข้อสังเกต ผู้ก่อเหตุปักหลักไล่ทำร้ายประชาชน ไม่เกรงกลัวกฎหมาย อาจมีความเกี่ยวข้องกับตำรวจ” นายณัฐชา กล่าว
“ในเวลา 20.44 น. ภาพวงจรปิดกล้องกรุงเทพมหานคร จับภาพเด็กชาย B วิ่งอยู่บนถนนมิตรไมตรีมุ่งหน้าแยกโรงกรองน้ำ เขาถูกยิงล้มลง และมีรอยกระสุนอีกนัดที่กำแพง รอยกระสุนเจาะตรงเข้ากำแพง ระบุว่าทิศทางการยิง ยิงตรงมาจากซอยหน้า สน. ดินแดง ซึ่งไม่มีผู้ชุมนุมอยู่” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา ระบุว่า กล้องวงจรปิดยังจับภาพชายสวมเสื้อสีอ่อน กางเกงขาสั้น และมีเป้สะพายเฉียงข้าง ยืนอยู่ปากซอยหน้า สน. ดินแดง เป็นทิศทางที่วิถีกระสุนพุ่งไปยังเด็กชาย B
คณะทำงานให้รายละเอียดว่า นอกจากเด็กชาย B แล้ว ในเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน กลุ่มชายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทำร้ายร่างกายและยิงเด็กชาย A (นามสมมุติ) หน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 โดยกลุ่มชายดังกล่าวมีทั้งอาวุธปืนจริง มีด และไม้ เดินไปบนท้องถนนเพื่อทำร้ายบุคคลอื่น
“เวลา 20.38 น. ปรากฏภาพชายชุดดำ วิ่งพร้อมเล็งปืนยิงไปทางกลุ่มคนริมถนน คาดว่าเขาคือผู้ที่ยิงเด็กชาย A สอดคล้องกับคําให้การของเด็กชาย A ที่บอกว่า ขณะเขาขับมอเตอร์ไซค์ไปรับเพื่อนที่ไปร่วมชุมนุม มีกลุ่มชายฉกรรจ์ถือไม้ และปืนคล้ายลูกโม่หรือรีวอลโว่ดักอยู่กลางถนน เขาตัดสินใจทิ้งรถแล้ววิ่งหนี แต่ถูกไล่ตาม และถูกใช้ไม้ฟาดอย่างแรง เขามารู้ตัวว่าถูกยิงในภายหลัง คาดว่าอาจเป็นช่วงชุลมุนระหว่างถูกรุมตี” นายณัฐชา กล่าวเพิ่มเติม
คณะทำงานระบุว่า จากหลักฐานภาพวิดีโอ กลุ่มคนที่ก่อเหตุกับเยาวชนทั้งสองคนมีลักษณะการแต่งกายและท่าทางคล้ายคลึงกัน
“มีภาพนิ่งกลุ่มชายฉกรรจ์อยู่ในพื้นที่ของ สน. ดินแดง ซึ่งในเวลาต่อมา ผู้กำกับ สน. ดินแดง บอกว่าไม่ได้มีคนอื่นมีแต่ตำรวจ เพราะฉะนั้นเราอยากจะได้คำตอบว่าถ้าหากในพื้นที่ สน. ดินแดงไม่มีผู้อื่น แล้วกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ปรากฏในภาพคือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช่หรือไม่” นายณัฐชา กล่าว
ในวันศุกร์นี้ เบนาร์นิวส์ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง พ.ต.อ. รัฐชัย ศรีวิชัย ผู้กำกับการ สน. ดินแดง และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ทั้งสองคนไม่ได้รับสาย
อย่างไรก็ตาม ในคืนที่เกิดเหตุ พ.ต.อ. รัฐชัย เจ้าของพื้นที่ ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้ใช้อาวุธปืนจริงกับผู้ชุมนุม และไม่มีบุคคลอื่นนอกจากตำรวจอยู่ในรั้ว สน. ดินแดง
สำหรับเด็กชายอายุ 15 ปีนั้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยผ่านเอกสารข่าว ระบุว่า เมื่อถูกนำส่งโรงพยาบาล คนเจ็บไม่รู้สึกตัวอยู่ในอาการโคม่า แพทย์ได้พยาบาลจนมีสัญญาชีพ จาการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบกระสุนปืนค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด และพบว่ากระดูกต้นคอซี่ที่หนึ่งและสองแตก
ในวันศุกร์นี้ นางนิภาพร สมน้อย มารดาของเยาวชนอายุ 15 ปี เปิดเผยว่า ถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการแจ้งความคืบหน้าของคดี แม้ลูกชายต้องนอนในโรงพยาบาลมาเป็นเวลาถึง 1 เดือนแล้วก็ตาม
“ไม่ได้รับความคืบหน้าของคดีนี้เลย ไม่อยากให้เรื่องมันเงียบเหมือนกับเรื่องที่ผ่าน ๆ มา เพราะมันเป็นเรื่องที่จะสะเทือนในกับครอบครัวของน้อง คาดว่า ตำรวจคงจะพยายามหาข้อมูลหลักฐาน ที่แม่เห็นวันนี้ พยานหลักฐานน่าจะมากพอสมควรที่จะทำให้คดีมันกระจ่างโดยเร็ว เสียงมันแตกมากเหลือเกินกว่าจะเป็นคู่อริ หรือจะเป็นเจ้าหน้าที่” นางนิภาพร กล่าว
การชุมนุมบริเวณ แยกดินแดง เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 และกลายเป็นพื้นที่ปะทะด้วยอาวุธระหว่าง ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จากการชุมนุมทางการเมืองในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 255 รายถูกดำเนินคดี ในนั้นเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 77 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 53 รายจากการสลายการชุมนุม ด้านตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ได้รับบาดเจ็บหลายรายเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการระบุจำนวนที่แน่ชัด
น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักสากล คำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนด้วย
“ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ผู้ใหญ่ต้องไม่รีบด่วนตัดสินว่าเด็กและเยาวชนถูกหลอกหรือตามเพื่อนมา ต้องได้รับการดูแล และเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมในประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเขา” น.ส.นวพร กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน