ทนายอานนท์ร้องศาล เรือนจำพยายามย้ายแดนขัง 7 นักกิจกรรมกลางดึก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.03.16
ทนายอานนท์ร้องศาล เรือนจำพยายามย้ายแดนขัง 7 นักกิจกรรมกลางดึก นายอานนท์ นำภา แกนนำประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ชูสามนิ้ว เมื่อเดินทางถึงตามศาลอาญานัดพร้อม ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 มีนาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ นายอานนท์ นำภา จำเลยคดี ม.112 ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เขียนหนังสือร้องต่อศาลอาญาว่า เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เรือนจำพยายามที่ย้ายตัว 7 ผู้ต้องหาทางการเมืองออกจากแดนที่คุมขังในเวลาดึก เพื่อขอตรวจโควิด-19 ด้านเรือนจำชี้แจง การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะให้การคุ้มครองผู้ต้องหาและตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่ ศาลอาญารับเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะไต่สวนในวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 นี้

นายอานนท์ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ พร้อมด้วยผู้ต้องหาจากคดีการร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2564 ในข้อหา ม. 112 และอื่นๆ รวม 11 ข้อหา ได้ร้องต่อศาลอาญาระหว่างการสืบพยานคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2561)ในช่วงเช้าวันนี้ ถึงประเด็นการย้ายตัวผู้ถูกฝากขังของเรือนจำ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยจดหมายคำร้องของนายอานนท์บนเว็บไซต์

“เมื่อคืนนี้ เวลาประมาณ 21.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวไผ่และไมค์ ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอมเพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กลับออกไปจากห้องขัง แล้วกลับมามากกว่าเดิมพร้อมกระบอง เวลา 23.45 น., 00.15 น. และ 02.30 น. โดยสองครั้งหลัง เจ้าหน้าที่มาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ติดป้ายชื่อ และแจ้งว่าจะพาทั้งหมดไปตรวจโควิด พวกเราไม่ยอม เพราะผิดวิสัยที่จะนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน” นายอานนท์ ระบุในจดหมาย

“ภายใต้ข่าวลือว่าจะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเราในเรือนจำ และเกรงจะเสียชีวิตในเรือนจำเหมือนคนอื่น ผมไม่ได้นอนทั้งคืนเพราะเกรงอันตราย ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย” ข้อความตอนหนึ่ง ในจดหมายของนายอานนท์ต่อศาลอาญา ระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของนายอานนท์ว่า ในช่วงค่ำของวันจันทร์ เจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาที่ห้องขังพร้อมแจ้งให้จำเลยที่ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี 3 คน ได้แก่ นายจตุภัทร์, นายภานุพงศ์ และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่ม We Volunteer  ย้ายไปกักตัวที่สถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่กักตัวตามปกติวิสัย ทางผู้ต้องขังได้ปฏิเสธว่าไม่ประสงค์จะย้ายตัวในช่วงเวลาค่ำเช่นนี้ ขอให้ย้ายตัวในช่วงเช้า กลุ่มเจ้าหน้าที่จึงออกไป

หลังจากการปฏิเสธ เจ้าหน้าพร้อมด้วยพยาบาลยังคงพยายามอีก 3 ครั้งที่เข้ามาขอตรวจโควิด-19 กับผู้ถูกฝากขังทางการเมือง 7 คน คือ นายอานนท์, นายจตุภัทร์, นายภานุพงศ์, นายปิยรัฐ, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ แต่ทั้งหมดปฏิเสธ และขอให้ดำเนินการดังกล่าวในตอนเช้า ซึ่งนายอานนท์ ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ถูกฝากขัง และทำให้คนทั้งหมดไม่ได้นอนจนถึงเช้า เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตราย

หลังเกิดเหตุ นายอานนท์ ได้เขียนหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ให้ชี้แจงใน 3 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย 1. ขอให้เรือนจำเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. ขอให้เรือนจำชี้แจงว่า บุคคลที่พยายามดำเนินการดังกล่าวคือใคร และ 3. ขอให้เรือนจำชี้แจงว่า การย้ายผู้ต้องขังในยามวิกาลเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยนายอานนท์มอบหมายให้ทนายความของศูนย์ทนายฯ เป็นผู้รับหลักฐานและคำชี้แจงดังกล่าว หากเรือนจำดำเนินการตามคำร้องขอ

ด้าน กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่จดหมายข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ โดยระบุว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามขั้นตอนมาตรการป้องกันโควิด-19

“เวลา 23.00 นาฬิกา นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 ราย คือ นายภานุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายปิยรัฐ จงเทพ, นายพริษฐ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าว รวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ” เอกสารข่าว ระบุ

“นายอานนท์ฯ พร้อมพวกได้ปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออกจากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาล โดยอ้างถึงความปลอดภัย... ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด” ตอนหนึ่งของเอกสารระบุ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจะให้การคุ้มครองผู้ต้องหา และตรวจสอบหลักฐานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง

“คุกคามอะไร ผมได้รับการรายงาน ก็ย้ำไปอีกที ผมก็ต้องคุ้มครอง ก็ดำเนินการตามกฎหมายก็ต้องคุ้มครอง ผู้ต้องหาด้วย ตามหลักการของกฎหมายด้วย ผมบอกว่าให้รับรองอย่างที่สุด แล้วก็การกล่าวอ้างอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมีหลักฐานชัดเจนนะ เดี๋ยวผมสั่งให้ติดกล้องก็ต้องดูไว้ด้วย ว่ามีใครไปทำอะไรหรือเปล่า หรือเขาทำตัวเองหรือเปล่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน ไปดูนะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันอังคารนี้

ในช่วงเย็น ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ศาลอาญาได้นัดไต่สวนกรณีที่เกิดขึ้นกับ นายอานนท์ และพวก ในวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 ในเวลา 09.00 น. โดยจะได้เชิญ นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาชี้แจงประเด็นดังกล่าว พร้อมกับนายอานนท์ด้วย

ทั้งนี้ นายอานนท์ และพวก ถูกฟ้องร่วมกันเป็นจำเลยในการทำความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ร่วมกันมั่วสุมฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และข้อหาอื่นรวม 11 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 โดยหลังจากที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ศาลมิได้อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะใกล้เคียงกันหลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ ในการชุมนุมบางครั้งมีการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดย น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 382 คน จาก 223 คดี ตามข้อมูลในวันที่ 3 มีนาคม 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 68 ราย ใน 59 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 19 คดี, นายอานนท์ 11 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง