ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ประยุทธ์อยู่บ้านหลวงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
2020.12.02
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีการอาศัยอยู่ในบ้านพักราชการ หลังเกษียณอายุราชการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก ทำให้พลเอกประยุทธ์จะยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไป
การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น. โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังในห้องพิจารณา ศาลได้จัดการถ่ายทอดสดเฉพาะเสียงออกมาให้กับสื่อมวลชนที่รออยู่บริเวณโดยรอบศาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องได้ส่ง พล.ต.วีระ โรจนวาศ เป็นตัวแทนเข้าฟังการอ่านคำวินิจฉัยแทน เนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดสมุทรสาคร ด้านสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ร้องส่ง นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นตัวแทนเข้าฟัง
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 เสียง เป็นเอกฉันทน์ ที่ระบุว่า การพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบกของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก
“การที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองกองทัพบก และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาใช้งานในบ้านพักรับรอง เป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าอาศัยในบ้านพักรับรอง กองทัพบก พ.ศ. 2548 แล้ว จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการถือประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบให้ตนเอง ไม่เป็นการขอเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด” นายวรวิทย์ กล่าว
“ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานจริยธรรม ข้อที่ 17 ประกอบ 7, 8, 9, 10 และ 11 อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 160 อนุ 5 ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 อนุ 4 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 อนุ 4 ประกอบมาตรา 160 อนุ 5 และมาตรา 170 วรรค 1 อนุ 5 ประกอบมาตรา 186 วรรค 1 และมาตรา 184 วรรค 1 อนุ 3” นายวรวิทย์ ระบุ
หลังศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ โดยได้เดินทางจากทำเนียบรัฐบาล กลับบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ กรมทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ในเวลาประมาณ 17.00 น.
การวินิจฉัยดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 เนื่องจากเมื่อดำรงตำแหน่ง ยังอยู่บ้านพักทหาร ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์การพักอาศัย เพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะมีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ระหว่างรอลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และตัว พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี
กระทั่ง ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวที่ระบุว่า ศาลได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า “คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน” และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และนำมาสู่การวินิจฉัยว่า การอาศัยอยู่ในบ้านพักราชการหลังเกษียณอายุราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายเห็นต่างรัฐบาลชี้คำวินิจฉัยสร้างความขัดแย้ง และจะทำให้คนเรียกร้องปฏิรูปศาล
หลังฟังคำพิพากษา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า ในฐานะผู้ร้อง พรรคเพื่อไทยได้ทำเต็มที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนถึงที่สุดแล้ว
“หลังจากนี้พรรคจะกลับไปหารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูรายละเอียดของคำวินิจฉัย… เมื่อศาลวินิจฉัยว่านายกฯ ไม่ได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและไม่ได้กระทำการขัดจริยธรรม เราก็ยื่นร้องต่อไม่ได้… คนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีวุฒิภาวะ มาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าคนอื่นทั่วไป เพราะฉะนั้นแล้ว ในเรื่องนี้เป็นที่ที่สังคมยังสงสัยอยู่ การอยู่ต่อหรือไม่เป็นเรื่องของท่านเอง ท่านประยุทธ์ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” นายประเสริฐ กล่าว
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า คำวินิจฉัยนี้จะทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น ว่าเป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่ใช่ระบบนิติรัฐหรือไม่
“พรรคก้าวไกลยืนยันว่า แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้บริสุทธิ์โดยการฟอกขาวให้ แต่เรายังยืนยันว่า พลเอกประยุทธ์ จะต้องลาออก เพื่อเป็นการถอดสลัก ถอดฟืนก้อนสำคัญออกจากกองไฟ ลดความขัดแย้ง เพื่อเป็นทางออกไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างสันติ เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย รวมไปถึงสังคมจะต้องร่วมจับตา และกดดันให้มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและกองทัพอย่างจริงจัง” นายชัยธวัช กล่าว
ในช่วงเย็นที่ห้าแยกลาดพร้าว คณะราษฎรนัดชุมนุมหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ในช่วงเย็น ที่ห้าแยกลาดพร้าว นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎรกล่าวในส่วนหนึ่งของการปราศรัยระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับข้าราชการการเมือง หรือรัฐมนตรี ที่รับประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดจากหน่วยงานราชการ ต่อไปนี้จะไม่ผิด
“ต่อไปนี้สถาบันตุลาการ จะต้องถูกเรียกร้องให้มีการปฏิรูปด้วย และไม่ต้องมาแสดงอำนาจบาทใหญ่ห้ามวิจารณ์ ขนาดกีฬาคนดูยังด่าได้เลย นี่เป็นเรื่องบ้านเมืองทำไมราษฎรจะด่าไม่ได้ แต่อย่างว่าแหละ ประยุทธ์ของเขาดี นายเขาใหญ่… อยากฝากข้อความไปถึงสถาบันตุลาการ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม บ้านเมืองเราขัดแย้งกันมาถึงจุดที่จะต้องใช้เหตุผล ถ้าสถาบันตุลาการเป็นเสาหลักลอย ๆ เป็นอะไรที่มันเชื่อไม่ได้ บ้านเมืองเราล่มจมแน่ ท่านต้องแสดงความมีกระดูกสันหลังออกมา” นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติม
นักวิชาการชี้กลุ่มผู้มีอำนาจยังหนุนหลังประยุทธ์
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย
“ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีอำนาจยังสนับสนุนประยุทธ์อยู่ และทำให้เชื่อได้ว่า ประยุทธ์มีแนวโน้มจะอยู่ครบเทอม 4 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจมีความเข้มแข็งในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าของประเทศ” นายฐิติพล กล่าว
“ผลมันอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วง แต่คงไม่ทำให้เกิดการประทุ มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ขยายวงมากนัก อาจจะแค่ในระยะสั้นที่มีความไม่พอใจ แต่ไม่ถึงขั้นส่งผลระยะยาว เพราะส่วนหนึ่งผู้ชุมนุมน่าจะประเมินออกอยู่แล้ว เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลถึงขั้นกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมที่นำไปสู่การลาออกของ พลเอกประยุทธ์ หรือมีการทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม” นายฐิติพล ระบุ
ด้าน นายซาไล บาวี นักวิเคราะห์การเมืองชาวเมียนมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะเข้าใจบทบาทตนเองว่า ปัจจุบันเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่ผู้นำทหารอย่างที่เคยเป็น ฉะนั้นแล้วควรจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งแย่ลงไปอีก
“ประยุทธ์ไม่มีอำนาจทางทหารแล้ว หากเทียบกับที่พม่าจะเห็นว่า แม้สถานการณ์ทางการเมืองมีลักษณะคล้ายกันในแง่ของการมีอำนาจทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลพม่านั้นมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ในยุคของรัฐบาลนายพลเต็ง เส่ง นั้น แม้จะมีอำนาจทางทหาร แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็ย้ายไปอยู่บ้านพักข้าราชการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาใดๆ คำวินิจฉัยนี้เป็นสิ่งที่ลืมได้ยาก และศาลก็จะเป็นที่พูดถึงต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่พวกเขารับไม่ได้อย่างยิ่ง” นายซาไล ระบุ
คำวินิจฉัยครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่ทั่วประเทศมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลด้วยกฎหมาย โดยมีประชาชนอย่างน้อย 90 ราย ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างการต่อต้านรัฐบาล นับแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 และมีการพยายามสลายการชุมนุมด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาอย่างน้อย 3 ครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ขณะปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บนเวที บริเวณห้าแยกลาดพร้าว กรุงเทพฯ (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)