ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยฟื้นสู่ภาวะก่อนโควิดภายในปี 2565
2021.12.14
กรุงเทพฯ

ธนาคารโลก คาดเศรษฐกิจไทยว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้ในปลายปี พ.ศ. 2565 แต่ยังประเมินว่า อัตราการเติบโตในปีนี้ว่ายังคงอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ พร้อมชี้ว่าการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นความหวังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ธนาคารโลก เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2564 ในวันอังคารนี้ว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถูกกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ส่วนในปี พ.ศ. 2565 เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัว การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะเข้าสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 เศรษฐกิจไทยโต 2.4 เปอร์เซ็นต์
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ระบุในการแถลงข่าวออนไลน์ในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 4 ของปีนี้ แม้จะไม่เพียงพอให้การขยายตัวของทั้งปีเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารโลกคงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมือนกับคาดการณ์ที่ออกมาในช่วงกลางปี ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากที่เคยติดลบ 6 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2563
“ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 จากการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ความสามารถในวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย” นายเกียรติพงศ์กล่าว
ด้วยการเติบโตที่จะเร่งตัวมากขึ้นในปีหน้า ทำให้ธนาคารโลกปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2565 เป็น 3.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวในอัตรา 3.6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยธนาคารโลกคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในเมืองไทยราว 7 ล้านคนในปี 2565
ส่วนในปี 2566 เขาชี้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 เปอร์เซ็นต์ และนักท่องเที่ยวก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยมาประเทศไทยก่อนหน้าโควิด
โควิด : ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเรื่องโควิดก็ยังคงมีอยู่ “หากมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่จนทำให้ต้องมีนโยบายเว้นระยะห่างที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอีก ก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอไปอีก 1 ปี” นายเกียรติพงศ์ กล่าว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจในปี 2565 อาจไม่เติบโตดังที่คาด
ด้าน นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยด้านการฉีดวัคซีนเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโคโรนา รวมทั้งความสามารถของวัคซีนที่จะรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ อย่างเช่น โอมิครอน เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทย อันเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทยยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก เพราะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างที่คาดการณ์เอาไว้นั้นเนื่องเพราะประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ อย่างเช่น จีน ยังคงใช้มาตรการเข้มงวดเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศ
นางเบอร์กิทยังได้กล่าวอีกว่า ทางธนาคารโลกเห็นว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีอัตราการเติบโตไม่เท่ากัน ในขณะที่จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าทั้งภูมิภาคจะมีอัตราการเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นอัตราที่ถูกปรับลดลงมาจาก 4.4 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิดที่รุนแรงและยืดเยื้อ
ดิจิทัล : โอกาสในการเติบโตแห่งอนาคต
รายงานของธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ “สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย : อยู่กับโควิดในโลกแห่งดิจิทัล” ที่เปิดเผยออกมาวันนี้นั้น ยังกล่าวด้วยว่า การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล นับเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตครั้งใหม่ของไทย ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้พยายามออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งรวมทั้งการปรับให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้นโยบาย อุตสาหกรรม 4.0 มาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ ถูกผลักดันให้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้นในช่วงโควิด โดยเฉพาะในด้านการซื้อขาย ทำธุรกรรมด้านการเงินต่าง ๆ แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนของรัฐบาลไทยเพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไป เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป
ในรายงานดังกล่าวนั้น ธนาคารโลกได้นำเสนอให้รัฐบาลไทยทำในช่วงต่อไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ก็คือ
- ส่งเสริมการแข่งขันและความเป็นธรรมในการแข่งขันในตลาด เพื่อทำให้ผู้ค้ารายเล็ก ๆ พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเองขึ้น รวมทั้งการเพิ่มกลไกให้ส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงาน และมีกระบวนจัดการกับการเอาเปรียบกันหรือไม่เป็นธรรมในทุกด้าน
- เพิ่มโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะขนาดเล็กให้เข้าถึงแหล่งทุน และปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงโดยเฉพาะดึงนักลงทุน การขยายการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล
- เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงาน รวมทั้งให้โอกาสแก่ผู้หญิงและแรงงานนอกกระแสอื่น ๆ ให้เข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจระบบใหม่
รายงานของเอดีบี
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2564 ฉบับเพิ่มเติม (Asian Development Outlook 2021 Supplement) ในวันนี้เช่นกันว่า ทางธนาคารปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 7.0 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และ 5.3 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า สาเหตุก็คือการระบาดของโควิดในช่วงกลางปีที่ทำให้การเติบโตในไตรมาสที่สามของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ชะลอลงไป
อย่างไรก็ตาม เอดีบีได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับคาดการณ์ของธนาคารโลก จากที่เมื่อเดือนกันยายน คาดว่าจะเติบโต 0.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตที่ 4 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 3.9 เปอร์เซ็นต์ เพราะการขยายตัวของการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคสินค้า จากการที่ไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้น อันเนื่องมาจากตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงเรื่อย ๆ