ศาลนัดเปิดเผยผลไต่สวนการเสียชีวิต 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' เดือนพฤษภาคม
2022.02.22
ปัตตานี

ศาลจังหวัดสงขลา นัดฟังคำสั่งการไต่สวนเพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อเกือบสามปีก่อน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ทนายความและภรรยาของนายอับดุลเลาะ กล่าวเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้
หลังจากที่นายอับดุลเลาะ ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการกก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ญาติของนายอับดุลเลาะได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก ปัตตานี จากนั้น ได้ขอให้ศาลจังหวัดสงขลาดำเนินไต่สวนหาสาเหตุการตายนายอับดุลเลาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 และเสร็จสิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้
นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การไต่สวนระบุถึงภาพรวมว่า การตายของนายอับดุลเลาะ ในขณะที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ยังไม่ได้ระบุตัวบุคคลที่ต้องสงสัย
ในการไต่สวนคดีนี้ มีการสืบพยานไปประมาณ 25 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหารจำนวน 13 นาย, แพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ให้การรักษานายอับดุลเลาะ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, พนักงานสอบสวน และญาติของนายอับดุลเลาะ
ในการสืบพยานเมื่อสุดสัปดาห์นี้เป็นแบบออนไลน์ โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธที่ทำการรักษาอับดุลเลาะ เป็นคนแรกให้ปากคำ ศาลได้จัดห้องหนึ่งห้อง สำหรับผู้ให้ปากคำ และอีกหนึ่งห้อง สำหรับผู้ร่วมสังเกตการณ์ โดยดูผ่านจอทีวี ซึ่งมีญาติ ทนาย และฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารอีก 4-5 นาย
“ในกรณีที่ศาลตัดสินเป็นประโยชน์กับครอบครัว ๆ ก็จะดำเนินการฟ้องคดีต่อไป แต่ถ้าศาลตัดสินให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ชนะ ทางตำรวจหนองจิกคงจะนำผลไปประกอบ เพื่อยุติคดีที่แจ้งความไว้” นายสากีมัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“คำวินิจฉัยของแพทย์เป็นส่วนที่สำคัญที่ศาลจะนำไปเป็นส่วนประกอบในการวินิจฉัย สำหรับพยานหลักฐานในค่ายมันยาก เราไม่สามารถที่จะเข้าไปขอหลักฐานขอพยานเพิ่มเติมได้เลย ในส่วนของคำวินิจฉัยของแพทย์ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับเรา” นายสากีมัน กล่าวเพิ่มเติม
ด้านภรรยาและญาติของนายอับดุลเลาะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า ตนไม่มีความหวังในการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่าทำให้นายอับดุลเลาะเสียชีวิตได้
“ตอนนี้ สืบพยานเสร็จสิ้นครบทุกปาก ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำสั่งวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ก็ตื่นเต้นเหมือนกันว่าศาลจะตัดสินอย่างไร แต่ลึก ๆ ก็เผื่อใจบ้างแล้วว่าแพ้ เพราะเข้าใจกระบวนการความเป็นธรรมของไทยดีทุกอย่าง” นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กล่าว
ด้าน นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้มีความหวังที่จะชนะคดีเช่นกัน
“จริง ๆ ก็ไม่ได้หวังจะชนะ แต่ก็ลุ้นเหมือนกันเพราะสิ่งที่เราทำแค่อยากให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่น ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เกิดกับใครแบบนี้อีก” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “ขอยืนยันแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ เป็นไปตามกระบวนการความเป็นธรรมทางกฎหมายทุกขั้นตอน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด และหลังจากที่เกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการทุกขั้นตอน รวมทั้งยังเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของครอบครัว ทางกำลังในพื้นที่ก็ได้เข้าไปเยี่ยมและสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 น.ส. ซูไมยะห์ มิงกะ กล่าวว่า หลังจากการตายของอีซอมูซอ ตนได้รับเงินเยียวยาจำนวน 500,000 บาท จากศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยังได้จ่ายเงินเยียวยา ส่วนที่เกิดกรณีถูกควบคุมตัวเป็นจำนวนเงิน 32,400 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ระบุว่า ทาง ศอ.บต. ได้อนุมัติเงินชดเชยกว่าหนึ่งล้านบาท และจะมอบเงินส่วนที่เหลือเพื่อช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาและทุนยังชีพให้กับบุตรของนายอับดุลเลาะสองคนเป็นรายปีอีกด้วย
การต่อสู้ที่ยาวนาน
นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 เพื่อการสอบปากคำในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี จากนั้นมีผู้พบ ที่แล้วพบว่านายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในห้องน้ำ เมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 และถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร, โรงพยาบาลปัตตานี ก่อนที่จะส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ตามลำดับ โดยในเบื้องต้น มีอาการสมองบวม และเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 25 ส.ค. 2562 ท่ามกลางความสงสัยของญาติถึงสาเหตุการตาย
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่างกายของนายอับดุลเลาะ
“แพทย์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษจากการติดเชื้อ สาเหตุนำคือ ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำอย่างที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติ และมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร” นายอับดุลอซิซ กล่าว
“แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น จะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว” นายอับดุลอซิซ กล่าวเพิ่มเติม
ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ ได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบสาเหตูการตาย แต่ในเดือนกรกฎาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแจ้งว่า ได้ยุติการสอบสวนกรณีนี้ เพราะมีการไต่สวนการเสียชีวิตในชั้นศาลจังหวัดสงขลาแล้ว และเมื่อเดือนมกราคม 2565 นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ยุติการสืบสวนในกรณีนี้เช่นกัน เว้นไว้แต่ผู้ร้องจะยื่นเรื่องให้ดีเอสไอพิจารณาใหม่ หากมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น