ญาติอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผิดหวังดีเอสไอยุติสืบสวนคดีเสียชีวิต

ดีเอสไอแจ้งภรรยาม่ายของอับดุลเลาะว่า ถ้ามีหลักฐานใหม่ ยื่นเรื่องใหม่ได้
มารียัม อัฮหมัด
2022.01.18
ปัตตานี
ญาติอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผิดหวังดีเอสไอยุติสืบสวนคดีเสียชีวิต ญาติ ๆ และเพื่อนบ้านนำศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไปฝังที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562 มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
เบนาร์นิวส์

นางซุไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เปิดเผยว่า รู้สึกผิดหวังที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แจ้งยุติการสืบสวนคดีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อย่างไรก็ตาม ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเชื่อว่า การยุติการสืบสวนจะไม่กระทบกระบวนการไต่สวนการเสียชีวิตของศาลที่กำลังดำเนินอยู่ ด้าน โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยัน กระบวนการของดีเอสไอเป็นไปตามกฎหมาย

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากมีหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยดีเอสไอส่งถึง นางซุไมยะห์ แจ้งว่า “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ยุติการสืบสวน และให้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยังสถานีตำรวจภูธรหนองจิก… ท่าน (นางซุไมยะห์) มีสิทธิยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาใหม่ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญที่ยังมิได้ถูกนำเสนอในคำร้องครั้งก่อน”

นางซุไมยะห์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ครอบครัวรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะไม่ยุติการทวงความยุติธรรมให้นายอับดุลเลาะ

“รู้สึกผิดหวังกับหน่วยงานของรัฐ เพราะเราเคยตั้งความหวังว่าจะได้คืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัว การที่ญาติยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับดีเอสไอ ก็เพื่อให้ดีเอสไอช่วยหาพยานหลักฐานเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ เพราะญาติไม่สามารถหาหลักฐานมาดำเนินการได้เอง แต่รัฐกลับให้ญาติหาหลักฐานใหม่แล้วจึงจะสอบสวน แล้วญาติจะไปหาที่ไหน” นางซุไมยะห์ กล่าว

เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ในวันนี้

นายอับดุลเลาะถูกพาตัวเข้ารับการรักษาทั้งที่หมดสติ ระหว่างกระบวนการซักถามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ณ ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และต่อมาได้เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม 2562 หลังการเสียชีวิต ครอบครัวของนายอับดุลเลาะได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ช่วยติดตามกรณีที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ กสม. ได้มีหนังสือแจ้งมายังครอบครัวของนายอับดุลเลาะว่า ได้ยุติการติดตามคดีดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2564 และล่าสุด ดีเอสไอได้แจ้งยุติการสืบสวนคดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การหาความจริงยังคงอยู่ในกระบวนการของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเริ่มไต่สวนการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ แล้วในเดือนพฤศจิกายน 2563 และกระบวนการยังคงเดินหน้าอยู่

นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่า การยุติการสืบสวนของดีเอสไอ ไม่น่าจะมีผลต่อการหาความจริงในคดี

“สำนวนและพยานบุคคลจากดีเอสไอ อัยการและญาติไม่ได้ใช้ในสำนวนคดีไต่สวนการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อัยการเองก็สืบพยานหมดแล้ว ดังนั้นโดยส่วนตัวเชื่อว่า การยุติการสืบสวนคดีของดีเอสไอ จะไม่กระทบต่อคำวินิจฉัยของศาล” นายสากีมัน กล่าว

ขณะที่ พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า กองทัพจะได้ให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับครอบครัวในประเด็นที่เกิดขึ้น

“เบื้องต้นได้ส่งเอกสารให้หน่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบเข้าไปสร้างความเข้าใจกับครอบครัวของนายอับดุลเลาะแล้ว เพราะทั้งหมดคือ กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการตามปกติ ที่ผ่านมาหน่วยที่รับผิดชอบได้เข้าไปสร้างความเข้าใจกับครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และจะทำต่อไป เพราะเราจะไม่ทอดทิ้งใครแน่นอน” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่ดีเอสไอทำ ทำให้เราไม่ไว้วางใจดีเอสไอ ในฐานะหน่วยงานที่รัฐบาลจะกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนใน พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ที่กำลังร่างอยู่

“เราจึงอยากเสนอให้ พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ มีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานอยู่ในกระบวนการสอบสวน และให้อัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผ่านความเห็นชอบจาก สภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาวาระที่ 2 

ย้อนเหตุการณ์เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ซึ่งอ้างว่า นายอับดุลเลาะช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่ อ.สายบุรี ปัตตานีหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายอับดุลเลาะจากบ้านพักใน ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี มาซักถาม โดยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และภรรยาอยู่ในเหตุการณ์

ต่อมาเมื่อเวลาตีสาม ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ หมดสติหลังจากเข้ากระบวนการซักถามยาวนาน 10 ชั่วโมง ณ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร นายอับดุลเลาะจึงถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี ก่อนส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ สงขลา เขาไม่ได้สติอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตที่นั่น ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ซึ่งแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิต มาจากอาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ

ปลายเดือนสิงหาคม 2562 นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่ายกายของนายอับดุลเลาะ

วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ครอบครัวของนายอับดุลเลาะได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ปัตตานี ซึ่ง พ.ต.ท.จักรกฤติ แสงจันทร์ รองผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากญาติและทนายความแล้ว หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ

ปัจจุบัน ศาลจังหวัดสงขลา กำลังดำเนินการไต่สวนการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ โดยกระบวนการเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ด้วยปัญหาการเชิญพยาน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระบวนการจึงมีความล่าช้า โดยการสืบพยานจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2565

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง