ไทยเตรียมซื้อวัคซีนโควิด-19 จากไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส
2021.05.07
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไทยเตรียมนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 10-20 ล้านโดส โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ในไตรมาส 3-4 ปี 2564 อย่างไรก็ตามยังไม่เปิดเผยมูลค่าการสั่งซื้อ
นายอนุทิน กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังประชุมร่วมกับตัวแทน บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ไทยเตรียมนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าสัญญาซื้อ-ขาย
“เจรจากันของทั้งสองฝ่าย ผู้ซื้อผู้ขายซึ่งเราจะทำกันให้เร็วที่สุด ทางไฟเซอร์ได้คอนเฟิร์มว่า ถ้าเราสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงได้เรียบร้อย วัคซีนของไฟเซอร์ก็จะส่งมาถึงประเทศไทยได้ ตั้งแต่ไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ จำนวนก็อยู่ในระหว่าง 10-20 ล้านโดส แล้วแต่ความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข” นายอนุทิน กล่าว
“กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ขอให้ทางไฟเซอร์ได้เร่งดำเนินการยื่นเอกสาร มาขอจดทะเบียนขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน อย. ของเรา ซึ่งการยื่นเอกสาร ก็จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้เซ็นบันทึกข้อตกลงฉบับแรกร่วมกัน เขาก็ยังยืนยันนะครับว่า เขาจะต้องทำสัญญากับรัฐบาล หน่วยงานของรัฐเท่านั้น” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม
นายอนุทิน ได้เปิดเผยเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมรับข้อเสนอจากบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทต่าง ๆ หากบริษัทสามารถระบุได้ว่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยได้เมื่อใด
ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ที่จะนำเข้านี้จะถูกใช้สำหรับเด็ก
“ที่บริษัท ไฟเซอร์ ก็มีการเจรจาจะหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อมาฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะว่าไฟเซอร์ ตอนนี้เป็นบริษัทเดียวที่แคนาดาเขาอนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และก็เข้าใจว่าของอเมริกาก็คงเร็ว ๆ นี้” นพ.โอภาส กล่าว
“เรามีเกณฑ์ คนที่จะไปต่างประเทศในการทำภารกิจที่จำเป็น เช่น เด็กนักเรียนจะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ และประเทศนั้น ๆ มีข้อกำหนดให้ฉีดวัคซีน เราก็จะฉีดให้ รวมถึงนักกีฬาที่จะไปแข่งนานาชาติ นโยบายรัฐบาลไทยก็ออกมาตลอดว่า จะหาวัคซีนให้คนไทย โดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อย 100 ล้านโดส หรือ 50 ล้านคน รวมทั้งถึงคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยด้วย” นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน แผนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ 1. บริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค ประเทศจีน 6 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 5 แสนโดส โดยปัจจุบัน นำเข้ามาแล้ว 3.5 ล้านโดส และเตรียมจะนำเข้าในกลางเดือนและปลายเดือนพฤษภาคม 2564 อีก 2.5 ล้านโดส
บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน/อังกฤษ 61 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็น 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท วัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วนจะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท และสปุตนิก วี ประเทศรัสเซียด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว 1,651,782 โดส เป็นเข็มแรก 1,201,258 ราย และเข็มที่ 450,524 ราย
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 วันศุกร์นี้ที่กระทรวงสาธารณสุข มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นดังนี้ 1. ภาคเอกชนจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อดูแลคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน โดยจะเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 82 แห่ง และต่างจังหวัด 300 แห่ง 2. จะมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพดี และ 3. จะออกอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหสถาน
แผนเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เห็นชอบในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยแบ่งแนวทางเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 นำร่อง 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และกักตัวตามระยะเวลาที่ ศบค. กำหนด ระยะที่ 2 Phuket Sandbox 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีใบรับรองการฉีดวัคซีน เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ต โดยไม่มีการกักตัว
ระยะที่ 3 ผ่อนคลายในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป รับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ขยายพื้นที่ไปยัง จังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องกักตัว และระยะที่ 4 เข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว และมีใบรับรองการฉีดวัคซีนเข้ามายังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว
โดยคาดว่าหากสามารถดำเนินการใน 10 จังหวัดได้ตามแผน จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 3.5 ล้านคน และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 298,192 ล้านบาท แยกเป็นเดินทางเข้ามาสร้างรายได้ของจังหวัดภูเก็ต 1,096,699 คน สร้างรายได้ 122,046 ล้านบาท เป็นการเดินทางเข้าและสร้างรายได้ให้กับ 9 จังหวัด 2,403,301 คน สร้างรายได้ 176,146 ล้านบาท
สำนักจุฬาราชมนตรี งดละหมาดอีดรวม ใน 45 จังหวัด
ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้ปัตตานี ยะลา สงขลา และนราธิวาส รวมทั้งจังหวัดอื่นรวมทั้งหมด 45 จังหวัด ละหมาดอีด หรือละหมาดรายอ (อิฎิลฟิตรี่) ที่บ้าน ตามเอกสาร ฉบับที่5/2564 วันที่ 6 พ.ค 2564 ให้ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ละหมาดอี๊ดที่บ้าน ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ส่วนในจังหวัดอื่น ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พิจารณาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด หากจังหวัดใดมีมติเห็นชอบแล้วว่า ไม่มีการละหมาดอีดที่มัสยิด ก็ให้จังหวัดนั้นละหมาดที่บ้าน แต่หากจังหวัดใด มีการพิจารณาและมีการอนุญาตให้ละหมาดอีดที่มัสยิดก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการโดยเคร่งครัด เช่น ให้ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดเจลแอลกอฮอล์ทางเข้า-ออกมัสยิด งดใช้น้ำกอละห์และน้ำบ่อรวมกัน ให้ทำความสะอาดพื้นมัสยิดก่อนและหลังละหมาดอีด ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ โดยเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก กำหนดจุดละหมาด และยืนห่าง 1-2 เมตร
สำหรับผู้เข้าร่วมละหมาด ต้องปฎิบัติดังนี้ ให้อาบน้ำละหมาดที่บ้าน นำผ้าปูละหมาดส่วนตัวมา ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้ามัสยิด สวมหน้ากากตลอด งดจับมือสลาม สวมกอด และสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือกล่าวคำสลามเท่านั้น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้งดไปละหมาดอีด หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้อาการไม่มาก ต้องงดไปละหมาดอีดเช่นเดียวกันการละหมาดอีดเป็นแค่สุนัต(ส่งเสริม) แต่การรักษาชีวิตและสุขภาพนั้นเป็นวายิบ(จำเป็น)
ในวันนี้ พญ. พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,044 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 78,855 ราย… เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย รวมจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด 363 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.46 ของผู้ป่วย โดยมีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 29,320 ราย อาการหนัก 1,170 ราย ในนั้นใส่เครื่องช่วยหายใจ 367 ราย
มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน