ไทยพบติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงสุดในรอบเดือน
2022.02.10
กรุงเทพฯ

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 14,822 ราย ซึ่งถือว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่ในรอบห้าเดือน ด้านกรมควบคุมโรคชี้ว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่งเป็นเด็ก แต่สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะผู้ป่วยปอดติดเชื้อ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไม่สูงหากเทียบกับปีก่อนหน้านี้
นพ. จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสูง จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้ว
“ผู้ป่วยรายใหม่ 14,822 ราย… วันนี้รายงานเข้ามามีผู้ป่วยปอดอักเสบ 563 ราย ซึ่งมากกว่าเมื่อวาน 16 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 3 ราย รวมเป็น 114 ราย ถ้าดูตามกราฟ สถานการณ์ดูเหมือนยังขึ้นไปอยู่ แต่ถ้าเทียบกับเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม (2564) ซึ่งเรามีตัวเลขสูงสุดของประเทศไทย วันที่เรามีการติดเชื้อ 2.3 หมื่นกว่าคนต่อวัน ตอนนั้นเรามีผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ 5.6 พันคน ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ 1,111 คน ตอนนี้เราอยู่ประมาณสัก 1 ใน 10 ของตอนที่เรามียอดสูงสุด” นพ. จักรรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ การติดเชื้อ 14,822 ราย ถือว่าเป็นสถิติที่มากที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2564 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 14,465 ราย ไม่รวมติดเชื้อในเรือนจำ อีก 726 ราย โดยปัจจุบัน กลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดคือ ช่วงวัยทำงาน
นพ. จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพบผู้ป่วยอาการหนักและพบผู้เสียชีวิตก็ค่อนข้างคงตัวอยู่ โดยทั้งหมด 20 ราย(ในวันพฤหัสบดีนี้) เป็นกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี ตามมาด้วย 30-39 ปี และยังมีผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะ 0-9 ปี และกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างมากอีกด้วย
ขณะที่ นพ. วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า หากเทียบ ปี 2564 กับ ปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยเด็กมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก
“การติดเชื้อในระลอกหลัง ๆ เราพบการติดเชื้อในเด็กสูงขึ้น 5-11 ปี มีการติดเชื้อถึง ร้อยละ 6 ปี 2565 พบ 13,600 ราย ขณะที่ 12-17 ปี พบ 12,126 หรือร้อยละ 5.9 แต่กลุ่มเด็กมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมากคือ 0.01 เปอร์เซ็นต์” นพ. วิชาญ กล่าว
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังระบุว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ พบการติดเชื้อเข้าข่าย หรือผู้มีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นบวก อีก 7,754 รายด้วย
ในวันเดียวกัน รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ภาพรวมการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก หลายทวีปเป็นขาลง ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา ส่วนทวีปเอเชียชะลอตัว ยกเว้นหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ในขาขึ้นชัดเจน รวมถึงประเทศไทยด้วย
“ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2 ที่กลายพันธุ์และเป็นที่จับตามองกันอยู่นั้น ข้อมูลขณะนี้พบว่าแพร่เร็วกว่าโอไมครอนดั้งเดิมคือ BA.1 แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่น่าจะต่างจากเดิม และอัตราการติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้มากไปกว่า BA.1” รศ.นพ.ธีระ ระบุ
ทั้งนี้นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในเดือนมกราคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสม 2.54 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 2.23 หมื่นราย ฉีดวัคซีนแล้ว 118.49 ล้านโดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดเข็มสอง 49.06 ล้านราย และ เข็มที่สาม 16.81 ล้านราย
ล่าสุด แม้ประเทศไทยจะยังพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1.14 หมื่นรายต่อวัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถลงทะเบียน Thailand Pass เข้าประเทศไทยแบบ Test and Go อีกครั้งหลังจากหยุดไปตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งรัฐบาลคาดว่า จนสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จะมีนักท่องเที่ยวลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นราย
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางเป้าหมายให้ปี 2565 เป็น “Visit Thailand Year 2022” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไทยวางแผนจะจัดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางภายในพื้นที่ที่กำหนดโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ ไทยจะเจรจาร่วมกับประเทศจีน และมาเลเซีย เพื่อหาความเป็นไปได้ของการร่วมมือ