นายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากทหารของไทยโต้กลับข้อวิจารณ์ของนานาชาติ เรื่องอำนาจตามมาตรา 44
2015.04.03

ในวันศุกร์ (3 เมษายน 2558) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงการปกป้องการใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แทนกฏอัยการศึก ซึ่งถูกวิจารณ์ถึงการมีอำนาจที่ครอบคลุมกว้างขวางอย่างไม่จำกัด
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในระหว่างการเป็นประธานงานสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ครบ 106 ปี และพิธีเปิดอาคารโรงเรียนเสนาธิการทหารบก (แห่งใหม่) ว่า คสช. จะไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต
“แต่ขณะนี้ หลายฝ่ายหวั่นเกรงในเรื่องการมีอำนาจของทหาร ซึ่งไม่ต้องกลัว เพราะทหารไม่สามารถทำอะไรนอกกรอบได้ อีกทั้งเมื่อยิ่งมีอำนาจยิ่งต้องระมัดระวัง ไม่มีการหลงอำนาจ” พลเอกประยุทธ์ยืนยัน
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศการยกเลิกกฎอัยการศึก ที่ใช้มาเป็นเวลาสิบเดือน และได้ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกมาทดแทนเมื่อวันพุธ นายเซอิด ราด อัล ฮุซเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้ออกมากล่าวหารัฐบาลไทยว่า การใช้คำสั่ง คสช. ตามอำนาจในมาตรา 44 ดังกล่าว ถือว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าเดิม
ด้วยการยกเหตุผลในการรักษาความมั่นคงของชาติและการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่มีหัวข้อ 14 หัวข้อ ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยให้สามารถเซ็นเซอร์สื่อมวลชน และห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนได้ ไม่นับรวมอำนาจอื่นๆ
พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวถึงแรงกดดันจากนานาชาติว่ามีที่มามาจากสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า “ต่างประเทศ ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะข้อมูลจากสื่อ วันนี้มีการล๊อบบี้ให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และพบว่ามีการนำเสนอของสื่อต่างประเทศ ระบุเรื่องการใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ของ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ประหารชีวิตสื่อ ยืนยันไม่เป็นความจริง และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
และท่านยังได้เรียกร้องสื่อมวลชนให้สื่อมวลชนระมัดระวังความถูกต้องในการเสนอข่าวสาร
“ไม่ได้มีการปิดสื่อใดๆ สื่อก็ยังสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ แต่ต้องพิจารณาความถูกต้องก่อน โดยเฉพาะการกล่าวหาใครต้องมีหลักฐาน ที่สำคัญก็ต้องคำนึงถึงประเทศชาติด้วย และจะไม่ยอมให้ผู่ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ อยู่ในประเทศนี้อีก และหากจำเป็นต้องใข้มาตรการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกก็จำเป็นต้องทำ” พลเอกประยุทธ์กล่าว
สำหรับการเลือกตั้ง ยังยืนยัน เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องเป็นไปเพื่อการปฏิรูป เป็นหลัก โดยการร่างรัฐธรรมนูญคาดว่าจะเสร็จในเดือนกันยายน หากไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น พร้อมย้ำ ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ขอเวลาแก้ปัญหาให้ประเทศก่อน
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแสดงความกังวล
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนภายใต้อำนาจมาตรา 44 ว่า คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจในมาตรา 44 นั้นให้อำนาจเจ้าพนักงานในการ “เซ็นเซ่อร์ข่าวสารและมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติตาม”
ในแถลงการณ์ของสมาคมฯ ได้กล่าวว่า ทางสมาคมฯ เห็นพร้อมด้วยกับสื่อมวลชนของไทยที่จะเรียกร้องทางการ ออกหนังสือชี้แนะแนวทางในการนำเสนอข่าวสารที่ทางรัฐบาลเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหาได้
“เรายังหวังอีกว่าองค์กรสื่อมวลชนทุกแห่ง ทั้งองค์กรของต่างประเทศและของไทย จะรายงานข่าวสารการเมืองที่มีความซับซ้อนและมีความแตกแยก ด้วยความเป็นกลาง มีความยุติธรรม และถูกต้องเที่ยงตรงอย่างอย่างสม่ำเสมอ”