ครูชายแดนใต้เครียด หลังจากมีครูเสียชีวิตร่วมสองร้อย ในรอบสิบเอ็ดปี
2015.05.28

จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา คนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่ นายอับดุลรอฮีม ดือเระ อายุ 58 ปี เป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านแบรอ และ นายสะมะแอ มูซอ อายุ 58 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.หนองแรด เสียชีวิต 2 ราย เหตุเกิดบริเวณหน้าบ่อทิ้งขยะ อบต.หนองแรต ม.3 ต.หนองแรด จ.ปัตตานี ขณะทั้งสองอยู่ในรถยนต์ พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร ปัตตานี สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ไม่ทิ้งประเด็น เรื่องการเมืองท้องถิ่น
ล่าสุดวันนี้ 28 พ.ค. 2558 นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนใต้ ออกมาแสดงความเสียใจกับครอบครัว และกล่าวว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ยิงครู ทำให้ครูมีความกังวลกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หลังการสูญเสียครูคือ โรงเรียนไม่ได้หยุดเรียน แต่ครูต้องไม่ประมาท ต้องยึดแผนรักษาความปลอดภัยครูเป็นหลัก ส่วนหน่วยงานกองกำลังอย่าละเลย พยายามดูต้นเหตุ อย่าดูจากปลายเหตุ ว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย และฝ่ายการศึกษากับฝ่ายความมั่นคงจะต้องทำงานประสานและบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ครูมีความปลอดภัยมากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว
ทางสำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 และหน่วยงานทางการศึกษาใน จ.ปัตตานี ได้รวบรวมเงินได้จำนวน 950,000 บาท ซึ่งได้ไปเยี่ยมครอบครัวและมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 200,000 บาท
“การสูญเสีย นายอับดุลรอฮิม ดือเร๊ะ ครูโรงเรียนบ้านแบรอ ต.หนองแรด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นครูรายที่ 182 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นกับครู และบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 11 ปี และเป็นครูคนแรกในรอบปีการศึกษา 2558 ที่ถูกสังหาร
ถึงแม้ว่าสาเหตุของการยิงครูจะยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมองถึงมิติของการดูแลรักษาความปลอดภัยครูและประชาชน จึงใคร่ฝากหน่วยงานทางการศึกษาให้ประชุมชี้แจง เรื่องความปลอดภัยของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องทบทวนเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวด ชัดเจน สามารถช่วยเหลือได้ทันที อย่าให้เกิดช่องว่างเหมือนที่ผ่านมา
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น 11 ปี ถือว่าความสูญเสียครูลดลง แต่ครูยังกลัว เครียดเมื่อยังเกิดเหตุความรุนแรงกับครู”
ทางด้านครูสาวที่สอนโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีครูถูกยิงไม่ว่าจะเป็นครูพุทธหรือครูอิสลาม ความรู้สึกหวาดกลัว ระแวงเกิดขึ้นทันทีและนานกว่าจะหาย
“เราคนนอกพื้นที่ มาสอนอยู่ในป่าในเขา หากขอย้ายเขตการศึกษาก็มีข้ออ้างว่า ต้องหาครูมาเปลี่ยน ซึ่งใครบ้างอยากมาในป่าในเขา มีแต่คนอยากออก จะหยุดทำหน้าที่ครูก็สงสารเด็กๆที่นี่ จะไม่มีการศึกษาแล้วจะไปคิดทำเรื่องไม่ดีอีก อนาคตของเด็กๆที่นี่ขึ้นอยู่ที่ครู ก็คงต้องตกเป็นเหยื่อก่อนทุกคนถึงจะให้ย้าย”
ล่าสุดทราบว่า คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งเห็นชอบให้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ยกเลิกการประเมินสถานศึกษาแบบเดิมที่ต้องไปประเมินที่โรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องจัดเตรียมเอกสารไว้จำนวนมากแล้ว ส่งผลดีต่อครูที่ไม่ต้องแบกรับภาระงานมากเกินไปและเพื่อนำเวลามาเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น และยังทำให้ครูไม่ต้องไปไหนมาไหนที่เป็นการออกนอกกรอบเส้นทาง
“ถ้าเป็นไปได้ขอให้หยุดความรุนแรงทุกรูปแบบกับ ครู เด็ก และบุคลากรทางการศึกษา” ครูสาว กล่าวทั้งน้ำตาทิ้งท้าย