นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ จะไม่ใช้วิธีการแทรกแซงราคายางพารา
2016.01.11

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในวันจันทร์ (11 ม.ค. 2559) นี้ว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการรับซื้อยางพาราในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ส่วนหนึ่งเพื่อมาใช้ตามโครงการสร้างเสริมระบบการใช้ยางพาราไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเทศให้มากขึ้น
“เพื่อจะจัดกระบวนการเพื่อรับซื้อให้ราคายางราคาสูงหน่อย... รัฐบาลกับ คสช. จะรับซื้อเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล โดยปฏิเสธการรับซื้อที่ราคา 60 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคายางแผ่นชั้นสามมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 34 บาทกว่า ตามข้อเสนอของบางฝ่าย
“วันนี้ ผลิตยางได้เท่าไหร่ ปีละ 4.1 ล้านตัน ใช้จริง[ในประเทศ]ได้หนึ่งล้านสี่แสน สามล้าน[สำหรับ]ไว้ขายทั้งหมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยสามล้านตันที่ว่า” ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพารา Rubber City ที่ตำบลฉลุง ในอำเภอหาดใหญ่ สงขลา เพื่อส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน ปี พ.ศ. 2560 โดย พลเอกประยุทธ์ ได้เดินทางไปเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ในระหว่างการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้ยกตัวอย่างการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ เช่น การนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนทดแทนแอสฟัลต์หรือยางมะตอย ซึ่งได้ทำไปแล้ว 37 เส้นทาง
“จะเข้าไปสู่กระบวนการผลิตที่มีหน่วยงานเราได้ส่งเสริมเอสเอ็มอีไว้ ที่ให้ทำหลักการไว้ในระยะเริ่มต้นก่อน โรงงาน ผู้ประกอบการ การทำถนนลาดยางที่มียางเป็นส่วนผสม” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
“ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เนื่องจากเดิมยางใช้เป็นส่วนผสมได้ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคามันจะสูงขึ้นกว่าสิบเปอร์เซ็นต์สำหรับถนนเส้นนั้นๆ แต่ผมให้ไปดู ปรากฏว่ามันจะใช้ได้ยาวขึ้น มีการซ่อมน้อยลง ตอนนี้ทำที่ใต้ไปแล้ว 37 เส้นทาง วันหน้าจะปรับขึ้นมาให้ได้ 15-20 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม มันอยู่ที่การวิจัย” พลเอกประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติม
และในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ จะมีการประชุมเพื่อหาช่องทางให้ 8 กระทรวง จัดสรรงบประมาณมาช่วยซื้อยางพารา ซึ่งด้านชาวเกษตรกรเองจะรอรับฟังมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาราคยางพาราจากรัฐบาลอีกด้วย
เกษตรภาคใต้เตรียมเคลื่อนไหวประท้วง
นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 12 นี้ ทางกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสงขลาจะประชุมกันอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อกดดันรัฐบาลหรือไม่
ทั้งนี้ นายบุญส่ง ได้เตรียมยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยดำเนินการแก้ไข ดังนี้ คือ หนึ่ง การเร่งยุติการตกต่ำของราคายาง สอง การหารือร่วมกันกับชาติผู้ผลิตยางพาราในอาเซียน สาม เร่งจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ให้ทั่วถึงโดยเร็ว สาม ส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถแปรรูปยางให้ได้มาตรฐาน สี่ เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว และข้อสุดท้าย ให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม ม. 44 ในการนำสต็อกยางพารา 300,000 ตัน มาทำถนน
ด้านนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ในจังหวัดตรัง กล่าวแก่ช่องทีเอ็นเอ็นว่า จะมีแกนนำชาวสวนในจังหวัดใกล้เคียง เช่นภูเก็ต และ พัทลุง มาร่วมประชุมกันหามาตรการเรียกร้องต่อรัฐบาลต่อไป แต่ยังจะไม่มีการเดินขบวนประท้วง
และในวันนี้ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้รายงานว่า นายถาวร เสนเนียม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปมอบหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอ 16 หนึ่งนั้น คือการให้รัฐบาลแทรกแซงราคายาง
“รัฐบาลต้องยอมรับความล้มเหลวในการแก้ปัญหายางธรรมชาติราคาตกต่ำ เพราะไม่สามารถให้หน่วยราชการนำยางไปใช้เพื่อลดปริมาณออกนอกระบบได้ตามนโยบายที่ออกมา อีกทั้งมติ ครม. ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์” นายถาวรกล่าว
ในเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว ที่สอบถามเรื่องการเรียกร้องข้องพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะไม่ยอมรับการแก้ปัญหาด้วยการปรับระบบการผลิตยางพาราทั้งระบบหรืออย่างไร
“จะสร้างระบบ ไม่เอาระบบใช่ไหมล่ะ? จะเอาแบบที่อุ้มเอาเลยไหม ไปหาเงินมาให้ผมเลย ผมเข้ามาไม่ใช่ใจร้าย ผมสงสารคนเหล่านี้ ไม่ใช่ผมเข้ามาเอาเป็นเอาตายกับเขา เขาก็อย่ามาเอาเป็นเอาตายกับผม” พลเอกประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์
จากข้อมูลสถาบันวิจัยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่ ปี 2546 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 ราคายางพาราชั้นสามมีราคา 174.44 บาท ต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มราคาลดลงต่อเนื่อง จนถึงระดับต่ำสุดที่ประมาณเพียง 34 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเวลานี้ ซึ่งมีชาวสวนยางประมาณสองล้านคนใน 56 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ มาจาก หนึ่ง การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจาก 14 จังหวัดภาคใต้เป็นเกือบทั่วประเทศ ทำให้มียางพาราออกสู่ตลาดจากในปี 2554 ที่ 1,500,000 ตันต่อปี เป็นประมาณ 4,300,000 ตัน ในปี 2556 สอง ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ และสาม ประเทศจีนที่เคยต้องการยางพาราปีละสี่ล้านตัน ชะลอการนำเข้าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว