ชาวโรฮิงญายังคงหลบหนีออกจากเมียนมา
2016.05.02
กรุงเทพฯ

หลังจากที่มีการค้นพบซากศพในแค้มป์กักกันค้ามนุษย์บนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ยังคงมีชาวโรฮิงญายอมเสี่ยงตายเดินทางหนีออกจากประเทศพม่า เพื่อมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย นั่นหมายถึงต้นตอปัญหาในเมียนมา ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาในประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางการของเมียนมา ไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ รวมทั้ง ผู้ที่ต้องอยู่ในศูนย์ผู้พลัดถิ่นในสิตหวี และไม่เปิดกว้างต่อนานาชาติ ที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุประการหนึ่งที่ว่า ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน 135 ชาติพันธุ์ของพม่า จึงยังมีคนขวนขวายที่จะหนีไปตายเอาดาบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมาเลเซียที่มีชนชาติต่างๆ จากประเทศพม่าไปค้าแรงงานอยู่ที่นั่นอยู่จำนวนมาก
เมื่อหนึ่งปีก่อน ในวันที่ 1 พ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจปาดังเบซาร์ ได้พบศพชาวโรฮิงญาบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ม.8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ประมาณสามสิบศพ เป็นชาวโรฮิงญาที่เดินทางมากับขบวนการค้ามนุษย์ แต่อดอาหารหรือป่วยตายเสียก่อน ในขณะรอข้ามพรมแดน
จากนั้นมา ประเทศไทย ได้เข้มงวดต่อการเดินทางของโรฮิงญามายังฝั่งทะเลอันดามัน มีการประชุมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในวันที่ 26 พ.ค. 2558 ทางกองทัพเรือ ได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” ซึ่งพลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ กล่าวในวันนี้ว่า นับตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มา ยังไม่พบว่ามีการโยกย้ายถิ่นฐานทางเรือ
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนฟอร์ติไฟไรส์ กล่าวว่า ในขณะนี้ ยังมีชาวโรฮิงญาตกค้างในไทยประมาณ 400 คน และมีชาวบังกลาเทศถูกกักตัวอยู่ 16 คน ส่วนในประเทศมาเลเซีย ยังมีชาวโรฮิงญาตกค้างอยู่ประมาณสามพันกว่าคน และในอินโดนีเซียอีกจำนวนหนึ่ง
ชาวโรฮิงญายังเสี่ยงดวงด้วยการเดินทางทางรถยนต์
เมื่อวันที่ 27 เมษายนนี้ ตำรวจทางหลวงชุมพร ได้พบกลุ่มชาวโรฮิงญา 14 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่สิบคน และเด็ก ทั้งหญิง-ชาย อายุ ในระหว่าง 2 ถึง 11 ขวบ อีกสี่คน ได้วิ่งหลบหนีตำรวจเข้าไปแอบในป่าละเมาะ ช้างถนนในอำเภอเมือง ชุมพร หลังจากที่ตำรวจพบเห็นและเข้าไปสอบถามเพื่อจะช่วยเหลือ
จากการสอบปากคำต่อมา ทราบว่า ทั้งหมดได้ตกลงจ่ายค่านำพาหัวละ 15,000 บาท ให้กับนายหน้าชาวพม่าและชาวไทย โดยให้นำพาด้วยรถยนต์ไปยังประเทศมาเลเซีย แต่ถูกทิ้งไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน เมื่อถนนช่วงถัดไปมีด่านตรวจ
นายนู มูฮัมหมัด ชาวโรฮิงญา ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และคอยให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมเชื้อชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ยังมีชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้นั้นเพราะว่า นายหน้าชาวต่างชาติ ที่หมายถึง ชาวโรฮิงญา และชาวพม่า ยังไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี
“สถานการณ์ยังแย่อยู่บ้าง เพราะนายหน้าที่ถูกจับเป็นคนไทย พวกต่างชาติที่เป็นนายหน้าจริงๆ ยังไม่ได้ถูกจับ ทำไมไม่จับนายหน้าที่ชักชวนคน หลอกลวงคนออกมา เข้าคุก?” นายนู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเก่านิดหนึ่ง แต่ยังคงมีชาวโรฮิงญาหนีมาอยู่ แต่มาแบบหลบซ่อนครับ อยู่ทางใต้” นายนูกล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ ยังคงมีชาวโรฮิงญาที่สามารถหลบหนีออกมาจากแค้มป์นรกเขาแก้วได้เมื่อปีที่แล้ว ยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทยอีกนับร้อยราย
เจ้าหน้าที่องค์กรเอ็นจีโอท่านหนึ่งกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศในกลุ่มอาเซียนลงสัตยาบันในสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้อพยพ ค.ศ. 1951 เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้นในฐานะผู้อพยพได้ หรือไม่ก็ให้ยอมรับพวกเขาเปนเหมือนผู้ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานเหมือนชนต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองไทยให้เขาสามารถทำงานได้ จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาได้ในทางหนึ่ง
เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าวว่า อาจจะมีชาวโรฮิงญาหนีออกมาอีก เพียงแต่ว่าในขณะนี้ การเข้มงวดของทางการไทย ทำให้ไม่มีเรือใหญ่ไปรับตัวชาวโรฮิงญาออกมา และชาวโรฮิงญาบางส่วน ยังคงรอคอยว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจี ให้หันมาแก้ไขปัญหาให้กับพวกตน
หลังจากการเปิดโปงการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ครั้งนี้ ประเทศไทยได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่เป็นทั้งพลเรือน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการตำรวจ และทหาร จำนวน 153 ราย จับตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้ 92 ราย หลบหนีอยู่ 61 ราย ทั้งนี้ ศาลอาญากรุงเทพเหนือ คาดว่าจะสามารถอ่านคำพิพากษาได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า
“กรณีติดตามคนร้ายตามหมายจับ เจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง คดีนี้เป็นคดีที่ติดตามตัวยากที่สุด แต่คาดว่าจะสามารถจับตัวเพิ่มเติมได้ในเร็วๆ นี้” พ.ต.อ.อดิเรก บือราเฮง ผู้กำกับการสถานีตำรวจหาดใหญ่กล่าว
ในก่อนหน้านี้ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสอบสวนคดีนี้ ได้ขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย เพราะกลัวอิทธิพลของฝ่ายจำเลย