เจ้าหน้าที่รัฐสามฝ่าย ประชาสัมพันธ์โครงการพาคนกลับบ้าน ห้วงเดือนรอมฏอน จังหวัดชายแดนภาคใต้
2015.05.28

เช้าวันที่ 28 พ.ค. 2558 พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พันตำรวจเอกณฐกรณ์ กาญจนาภรณ์ ผู้กำกับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายรอมฎอน หะยีอาแว โฆษก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวสามฝ่าย สรุปผลการปฏิบัติงาน การแก้ไขและพัฒนาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
โครงการพาคนกลับบ้าน
พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะหนุนเสริมขบวนการพูดคุยกระบวนการสันติภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูล และหนุนเสริมต่อการพูดคุย" โดยเริ่มเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีโอกาสพบกับอดีตแนวร่วมกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งปัจจุบันไม่มีพันธะทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น ถูกดำเนินคดีแล้วเสร็จ วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมคือ ต้องการประชาสัมพันธ์ถึงแนวคิด ที่จะให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกับรัฐที่ยังคงหลบหนีอยู่ คือ หนึ่งกลุ่มที่มีหมาย ป.วิ อาญา สองผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโอกาสกลับบ้าน เพื่อกลับมาประกอบศาสนกิจทางศาสนาในช่วงเดือนรอมฏอน ห้วงกลางเดือนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ เชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังคงหลบหนีอยู่ ได้มีโอกาสกลับมาประกอบศาสนกิจเนื่องในเดือนรอมฏอน สำหรับช่องทางในการกลับมา ตอนนี้มีโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามารายงานตัวแสดงตน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน เช่น กรณีผู้ที่มีหมาย ป.วิ อาญา ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้มีการประกันตัว เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก”
สำหรับผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะนี้สามารถปลอดหมาย พ.ร.ก.แล้วกว่า 700 ราย เมื่อปลดหมายแล้วที่ผ่านมา เกิดปัญหาออกไปต่างประเทศไม่ได้ ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ แต่ขณะนี้มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ มีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทางตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เพื่อให้ลบบัญชีออก ส่วนผู้ที่ไม่มีหมายก็ไม่มีปัญหา
ขั้นตอนและการฝึกอบรมเสริม
กระบวนการตามโครงการพาคนกลับบ้าน จะมีขั้นตอนอยู่ เมื่อเข้ามาแล้ว ขั้นแรกทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ตามโครงการประชาร่วมใจ ทำความดีเพื่อแผ่นดิน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอบรมวิชาชีพ ถ้าเขามีความต้องการ ขณะนี้มีผู้เข้าอบรมจำนวน 225 คน ที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังฝึกอบรมอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ ศอ.บต.เป็นเวลา 6 เดือน ช่วงที่ผ่านมามีการแข่งขันทักษะไปแล้ว ซึ่งบุคคลเหล่านี้เคยมีความคิดเห็นต่าง หลังจากฝึกอาชีพแล้วถ้าไม่มีความมั่นใจว่า สามารถกลับไปอยู่ในชุมชนได้ ก็ยังมีโครงการสำหรับการขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก ในห้วงตั้งแต่ 13 – 26 พฤษภาคม 2558
ภาพรวมสถานการณ์
การเกิดเหตุการณ์ร้ายรวมทั้งสิ้น 17 เหตุการณ์ แยกเป็นคดีความมั่นคง 9 คดี อาชญากรรม 3 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบ 5 คดี มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บ 32 ราย โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ยังคงสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด และสร้างสถานการณ์ก่อกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสถานการณ์ก่อกวน ในเขตเทศบาลนครยะลา พร้อมกันหลายจุด ในห้วง 14-16 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ในขณะที่กลุ่มแนวร่วม และองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ ยังคงเคลื่อนไหวบิดเบือนข้อเท็จจริง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และชี้นำทางความคิดในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และแสดงออกทางความคิดเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวาง
โดยในห้วงเวลาได้เข้าติดตามจับกุม ปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 1 ราย สามารถควบคุมตัว 7 ราย ตรวจยึดอาวุธปืน 3 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน เป็นจำนวนมาก
สำหรับกรณีเหตุการณ์คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิง นายอับดุลรอฮีม ดือเระ ข้าราชการครูโรงเรียนบ้านแบรอ ตำบลหนองแรด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต พร้อมกัน 2 ราย เมื่อ 26 พค.นั้น จากการตรวจสอบในขั้นต้นทราบว่า ภายหลังกลับจากโรงเรียนถึงบ้านพักแล้ว นายอับดุลรอฮีม ได้เดินทางไปทำธุระส่วนตัวพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับสาเหตุยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยเข้าไป สร้างความเข้าใจกับเครือญาติ และพี่น้องประชาชน และให้เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง และติดตามคนร้ายมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
มาตรการรักษาความปลอดภัยครู
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยครู ห้วงเปิดภาคการศึกษา ทุกพื้นที่ได้ปฏิบัติตามแผน และบันทึกข้อตกลงร่วมกันที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยครู ทุกจังหวัดเป็นเวลา 7 วัน เพื่อติดตามสถานการณ์ และประเมินแผนรักษาความปลอดภัย โดยมีกำลังภาคประชาชนออกมาร่วมดูแล ความปลอดภัยเฉลี่ยวันละ 26,000 คน สถานการณ์ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ด้านนายรอมฎอน หะยีอาแว โฆษก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศอ.บต. มีตัวบ่งชี้จากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการจัด ในห้วงที่ผ่านมา
กิจกรรมเสริมสานปรองดอง
“ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสานความรักสร้างความปรองดองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้นำแนวนโยบายของรัฐบาลมาใช้ นั่นคือการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นภาพของการออกมาร่วมมือกันของคนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นในแต่ละจังหวัด มีประชาชนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นตัวบ่งชี้ว่าในพื้นที่ของเรายังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น ความรัก ความสามัคคี ยังมีอยู่ ภายใต้การบูรณาการ การร่วมงานของ ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต.”
การมาเยี่ยมเยียนของท่านทูต จากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)
นอกจากนี้ คณะทูตประเทศสมาชิก องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) โดยท่านทูตจากประเทศโมร็อคโค ได้มีโอกาสลงพื้นที่ โดยเดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนพิมานวิทย์นราธิวาส และมัสยิดตะโละมาเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวว่า ในพื้นที่ยังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นอยู่ สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในการมาเยี่ยมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ คือการได้เห็นความรักของพี่น้องศาสนิกชนอยู่ร่วมกัน การได้เห็นการจัดการศึกษาที่ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
“เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำความสงบสุขกลับมาสู่พื้นที่ได้”
ปัญหาระยะยาวเรื่องคุณภาพการศึกษา
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการมาโดยตลอด คือการยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ โดยการส่งเสริมการเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดติวเตอร์ในโรงเรียนสามัญ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การจัดติวพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ซึ่งจากผลการดำเนินการเหล่านี้ ทำให้ระดับผลการสอบ O-NET ซึ่งถือว่าเป็นผลการสอบระดับนานาชาติ สำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 2% เทียบจากปีที่ผ่านมา
“สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ รวมถึงผลการพัฒนาจากทุกฝ่ายดีขึ้นแล้ว”