คณะผู้แทนไทย พบปะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในกรุงกัวลาลัมเปอร์

โดย นาซือเราะ และภิมุข รักขนาม
2015.08.25
TH-pre-peacetalks-620 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจสอบที่เกิดเหตุ ชายคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ภาคใต้ของไทย วันที่ 4 สิงหาคม 2558
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล 11:23 a.m. ET 2015-08-26

เจ้าหน้าที่รัฐตัวแทนฝ่ายไทย ได้พบปะเข้าร่วมพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างในนาม MARA Patani ในวันอังคาร ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมาพร้อมกับการนำเสนอและการเห็นพ้องกับเงื่อนไข เพื่อปูทางสู่การพูดคุยสันติสุขครั้งต่อๆไป ในอนาคต หนึ่งในคณะผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“การพูดคุย มีรายละเอียดมากมาย แต่เราเห็นพ้องกันในหลักการ ในข้อเสนอ 3 ข้อ ของแต่ละฝ่าย”  พลตรีนักรบ บุญบัวทอง กล่าว ก่อนเดินทางออกจากสนามบินกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกลับประเทศไทย หลังเสร็จสิ้นการประชุมปิด ระหว่างตัวแทนภาครัฐฝ่ายไทย และ มารา ปาตานี (MARA Patani) องค์กรร่ม ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งหลาย เพื่อพบปะพูดคุย ก่อนการเริ่มกระบวนการสันติสุข

“ข้อเสนอทั้งสามข้อ ของเรา และของเขา สามารถทำได้” พลตรีนักรบ กล่าว

พลตรีนักรบ บุญบัวทอง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ หนึ่งในตัวแทนรัฐบาลไทย ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับประเทศมาเลเซีย และเป็นผู้ที่มีส่วนในการพยายามชักชวน ให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวนกลับมาสู่โต๊ะเจรจาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเจรจารอบสุดท้ายที่มีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง และที่จัดขึ้นในยุครัฐบาลพลเรือนที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สะดุดลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ในตอนนั้น กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้ยืนกรานให้รัฐบาลมอบอธิปไตยให้กับสามจังหวัดภาคใต้ และยอมรับ “รัฐปาตานีมลายู” นอกเหนือจากข้อเรียกร้องอื่น ๆ

วันนี้ที่ 25 ส.ค. 2558 แหล่งข่าวใกล้ชิดผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้ รายงานจากประเทศมาเลเซียให้เบนาร์นิวส์ ทราบว่า พล.อ. อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข พร้อมคณะพูดคุยสันติสุข ร่วมพูดคุยสันติสุข ครั้งที่ 3 กับองค์กร Mara Patani ที่เซฟเฮ้าส์ ของตำรวจมาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยการพูดคุยครั้งนี้ ทางคณะได้ใช้เวลาในการพูดคุยทั้งหมดกว่า 4 ชั่วโมง

“โดยภาพรวมการพูดคุยครั้งนี้ เป็นไปอย่างปกติ คณะทั้งสองฝ่าย มีความไว้วางใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีต่อกระบวนการสันติสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” แหล่งข่าว ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ข้อเสนอจากสองฝ่าย

พลตรีนักรบ กล่าวว่า รัฐบาลไทย นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล ได้นำข้อเสนอในการพบปะ กับมาราปาตานี 3 ข้อ ดังนี้ คือให้มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้มีการพัฒนาท้องถิ่นตามที่ประชาชนต้องการ และให้มีการสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

สำหรับด้าน MARA Patani ตั้งข้อเสนอมา 3 ข้อ ดังนี้คือ ให้ยกเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทางการไทยยอมรับองค์กร MARA Patani ที่จะมีการเปิดตัว 27 ส.ค.นี้ และ ให้รัฐบาลให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้เข้าร่วมเจรจา พลตรีนักรบ กล่าว

พลตรีนักรบ ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการพูดคุยกันที่เพิ่งเสร็จสิ้น

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ความขัดแย้งในสามจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ สี่อำเภอในจังหวัดสงขลา รวมเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย และมีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่ ได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 6,000 คนแล้ว และบาดเจ็บกว่า 10,000 คน

กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่อยู่ในกระบวนการสันติสุข

“ในเบื้องต้นทราบว่า คณะพูดคุยฝ่ายไทย จะมีการแถลงข่าวเช่นเดียวกัน หลังจากองค์กร MARA Patani ได้แถลงเปิดตัวกับสื่อมวลชน ในวันที่ 27 ส.ค. 2558 นี้” แหล่งข่าว ผู้ไม่ประสงค์เผยนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะเข้าร่วมพูดคุยในนาม MARA Patani ครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจิฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองกลุ่มย่อยๆ ได้แก่ กลุ่มพูโล ดีเอสพีพี หรือสภาซูรอเพื่อการนำพูโล และกลุ่มพูโล เอ็มเคพี หรือ องค์การสหปาตานีเสรี

ส่วนกลุ่มพูโล พี4 หรือกลุ่มพูโลเก่า ที่นำโดย นายซัมซูดิง คาน ที่มีกองกำลังเป็นของตัวเองที่เรียกว่า PLA นั้นๆด้ถอนตัวหลังจากที่ได้ร้วมพูดคุยนอกรอบในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสองครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า กลุ่มพูโลเก่าได้หยุดปฏิบัติการนานมาแล้ว

จำต้องมีการผ่อนปรน ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกล่าว แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะชักชวนให้กลุ่มผู้เห็นต่าง หวนมาร่วมการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า รัฐบาลไทยจะต้องพร้อมที่จะ “ลดทิฐิทางการเมืองลงมา”  มิฉะนั้นการพูดคุยสันติสุขก็จะไร้ความหมาย

“ตอนนี้ ยังมีข้อกังวลถึงกลุ่มผู้เห็นต่างว่า การพูดคุยสันติสุขนี้ จะเป็นการเริ่มต้นของการเจรจาข้อตกลงในเรื่องที่สำคัญต่างๆ หรือเป็นเพียงกลยุทธ์ทางทหารอีกเช่นเคย ที่ต้องการระบุตัวผู้นำในการปราบปรามต่อไป” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์

รุ่งรวี เป็นอดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี และอดีตนักวิเคราะห์ ของอินเตอร์แนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ในกรุงบรัสเซลส์ ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและป้องกันความขัดแย้งทั่วโลก

กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐต่างมีความเห็นต่างหลากหลายในวงกว้าง ตั้งแต่ต้องการมี เขตปกครองพิเศษของตนเอง จนถึงแยกเป็นรัฐอิสระพวกเขายังไม่ได้สลายความคิดที่ต้องการจะแยกเป็นรัฐอิสระ แต่กลุ่มผู้เห็นต่างบางส่วน เห็นว่าการมีเขตปกครองพิเศษของตนเอง อาจจะเป็นทางออก" รุ่งรวี กล่าว

"ข้อตกลงที่มีร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน จะต้องมีการเจรจาต่อรองผ่านกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง