นายกฯ พร้อมแก้รัฐธรรมนูญ และรับฟังเด็ก
2020.08.18
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ตนเองไม่มีปัญหาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการรับฟังเด็ก หลังจากที่ประชาชนได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 เดือน ด้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสืออนุญาตเด็กนักเรียนชุมนุมในสถานศึกษาแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงบ่ายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นจากทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประชาชน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา
“เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรกับใครทั้งสิ้น ก็เป็นเรื่องของการหารือร่วมกันของแต่ละพรรค พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องเตรียมการว่าจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ต่อไปอย่างไร เป็นไปตามขั้นตอน อาจจะต้องไปพิจารณาในส่วน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับพรรคฝ่ายค้านเสนอเข้ามาด้วย ในส่วนของรัฐบาล ภาคประชาชนก็ต้องรอความชัดเจนให้หมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และนักเรียนในสถานศึกษาต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่อยากให้เป็นประเด็น แต่รับฟังเด็กมาทำให้รู้ว่า เด็กบางคนไม่ได้ต้องการร่วมกิจกรรมชุมนุมแต่ถูกกดดันจึงจำเป็นต้องร่วม
“ปรากฎการณ์ในสถาบันการศึกษา โรงเรียน หลายอย่างเกิดขึ้นมา ผมไม่อยากให้มันเป็นประเด็นต่อไปนะครับเพราะว่า ผมก็เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเด็กเหล่านี้ ผมรับฟังความเห็นจากเด็กๆ มานะครับ เขาบอกว่าบางทีในสถาบันการศึกษาของตัวเอง ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม มันมีบูลลี่กัน ถ้าใครไม่มาร่วมก็จะถูกกีดกัน ถูกไม่ให้เข้าร่วมชมรม เข้ากลุ่มอะไรแบบนี้ ผมคิดว่านั่นคืออันตรายนะครับ… เท่าที่ฟังจากนักศึกษามานะครับ บางคนไม่ได้อยากมีส่วนร่วมอะไรเท่าไหร่ ขอให้ทุกคนหารือกันด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
การเปิดเผยของ พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะทำให้ ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของฝ่ายค้านนั้น สามารถบรรจุอยู่ในสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยหากสามารถแก้ไขมาตรา 256 ได้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นได้ง่ายขึ้น
“เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งนี้ เนื่องจากไปตรวจสอบแล้วก็เห็นการดำเนินงานโดยใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีแต่ข้อบกพร่องมากมาย ฝ่ายค้านร่วมจึงได้เสนอญัตติต่อท่านประธานในวันนี้ โดยสาระสำคัญของญัตติ ที่ยื่นวันนี้นั้นก็คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งจะรวมในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้ ส.ส.ร. มาพิจารณาในเรื่องการดำเนินการในการร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว
ซึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวแก่สื่อมวลชนเช่นกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ซึ่ง ส.ว. ก็พร้อมจะแก้ไข หากเป็นประโยชน์ของประชาขน
“ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ในระบบที่มีอยู่นี้ จำเป็นที่จะต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 ก็คือ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และในวาระที่ 3 เพราะฉะนั้นยังไงเสียจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไป อย่างไรก็ตามแต่จะตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ตั้ง ส.ส.ร. จะแก้อะไร… ต้องการเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 84 คน ผมเชื่อมั่นว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนพร้อมที่จะลงมติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน” นายคำนูณ กล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เกิดการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา ซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน และต่อมาทำให้เกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด และหลายสถานศึกษาทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน
โดยข้อเรียกร้องในหลายเวทีมีความแตกต่างกันไป เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ในการชุมนุมใหญ่ซึ่งมีคนร่วมกว่า 1 หมื่นคน ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิม พร้อม 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ข้อเรียกร้องเดิม คือหยุดคุกคามประชาชนที่มาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนญูใหม่ และยุบสภา ประกอบ 2 จุดยืน คือไม่เอาการรัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และเสนอ 1 ความฝัน คือ มีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
มิใช่เพียงแค่มหาวิทยาลัยเท่านั้น โรงเรียนมัธยม เช่น เตรียมอุดมศึกษา สตรีวิทยา ในกรุงเทพฯ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในกาญจนบุรี สาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ในนครปฐม สตรีศึกษา ในร้อยเอ็ด ขอนแก่นวิทยายน ในขอนแก่น รวมถึงอีกหลายจังหวัดได้จัดการชุมนุม และเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ขึ้น เช่น การชูสามนิ้ว ชูกระดาษเปล่า ยืนเฉยๆ หรือการผูกโบว์สีขาว แต่หลายพื้นที่ถูกกีดกันหรือขัดขวางโดยครูในโรงเรียนเอง จนเกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์
ทำให้ต่อมา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เด็กควรมีเสรีภาพในการชุมนุม แต่นักเรียนจำเป็นต้องมีขอบเขต
“เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน นักเรียน ตนรับได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องมีขอบเขต ถ้าหากการแสดงออกจะสร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ก็แล้วแต่ สร้างความแตกแยกของประเทศหรือก่อให้เกิดปัญหาของสังคมในอนาคต ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำในขณะที่ประเทศต้องการความร่วมมือกัน” นายณัฏฐพล กล่าวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกหนังสือระบุว่า การชุมนุมในโรงเรียนสามารถทำได้
“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ในการขอความร่วมมือให้สถานศึกษา เปิดพื้นที่ทำกิจกรรม และแสดงความคิดเห็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียน อีกทั้งไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม” ตอนหนึ่งของ หนังสือ สพฐ. ระบุ