ศาลปกครองตัดสิน คำสั่งปิดวอยซ์ทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.02.27
กรุงเทพฯ
190227-TH-voiceTV-1000.jpg นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวอยซ์ทีวี ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาศาลปกครอง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/กรุงเทพฯ

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้คำสั่ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิกถอนใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 21 ชั่วคราว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ที่รายการถูกอ้างว่าให้ข้อมูลสับสน ปลุกปั่น เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต คำพิพากษาทำให้ช่องสามารถออกอากาศได้ปกติ

สืบเนื่องจาก เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช. มีคำสั่งทางปกครองพักใช้ใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี 21 เป็นการชั่วคราว 15 วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้บริหารวอยซ์ ทีวี เห็นว่า คำสั่งของ กสทช. ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่บริษัท จึงยื่นฟ้องศาลปกครองให้ระงับคำสั่งฉุกเฉินให้สถานีฯ กลับมาออกอากาศได้ และให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว

วันนี้ ศาลปกครองได้นัดอ่านคำพิพากษา คำร้องของวอยซ์ ทีวี 21 ในเวลา 16.00 น. โดยฝ่ายวอยซ์ ทีวี ผู้ฟ้องมี นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเจ้าหน้าที่สถานีบางรายเข้าฟัง ด้านผู้ถูกฟ้องคือ กสทช. มีเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าฟัง โดยคำพิพากษาระบุว่า คำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 ก.พ. 2562 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่ง กสทช.

“ศาลพิจารณาแล้วว่า ผู้ดำเนินรายการเวคอัพนิวส์ และทูไนท์ ไทยแลนด์ ได้นำเสนอ และเรียบเรียงเนื้อหา วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ รวมถึงบุคคลสาธารณะ แม้จะนำเสนอข้อมูล และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากแหล่งข่าว แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณะ ไม่ถึงกับเป็นการยั่วยุ ให้เกิดความขัดแย้ง และแตกแยก” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาโดยสรุป

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า การนำเสนอข้อมูลของผู้ฟ้อง(วอยซ์ ทีวี) ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไร ข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้… การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องไม่ถูกต้องตามวิธีการ และขั้นตอน… ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบธรรม” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ทั้งนี้ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่วอยซ์ ทีวี ร้องต่อศาลปกครองกลาง ยังมีผลต่อไปอีกจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้วอยซ์ทีวี จะยังออกอากาศได้ปกติ แม้ กสทช. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยหลังจากนี้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย มีระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน

สำหรับการออกคำสั่ง ระงับใบอนุญาตออกอากาศของวอยซ์ทีวี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า กสทช. อาศัยอำนาจ ตามมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 16 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ข้อ 20 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 มีคำสั่งกำหนดโทษทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาต คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ของช่องวอยซ์ ทีวี โดยมีคำสั่งเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่า รายการบางรายการของวอยซ์ทีวี มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย สร้างความสับสน และยั่วยุ โดยเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหา ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562

หลังฟังคำพิพากษา นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ระบุว่า การนำเสนอของวอยซ์ทีวี เป็นการกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเป็นการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในฐานะสื่อมวลชน

“การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง กสทช. วอยซ์ ทีวี มุ่งหวังให้เกิดบรรทัดฐานว่า การทำงานขององค์กรรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล และมีความเป็นกลางทางการเมือง ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น และตระหนักในหน้าที่ว่าจะต้องให้สื่อมวลชนประกอบกิจการได้โดยราบรื่น”

ด้าน ตัวแทนจาก กสทช. มิได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ หลังการฟังคำพิพากษา

บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อนำออกอากาศเป็นการทั่วไป โดยมีกรรมการบริษัท เป็นบุตรของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พินทองทา ชินวัตร

จากการเปิดเผยของ กสทช. โดยสรุป สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ถูก กสทช. ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ มาแล้วอย่างน้อย 35 กรณี โดยมีทั้งการตักเตือน เรียกประชุมทำความเข้าใจ และการสั่งระงับการออกอากาศ ขณะที่สถานีอื่นๆ ก็เคยถูก กสทช. ดำเนินการเช่นกัน เช่น พีซทีวี, ทีวี 24, ดีเอ็มซี ทีวี (ธรรมกาย), สปริงนิวส์ ทีวี และเนชั่น ทีวี เป็นต้น

กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

จากกรณีที่ พรรคไทยรักษาชาติ เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในนามของพรรคฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นำไปสู่มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ในวันนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องและมีคำสั่งให้คู่กรณี คือพรรคไทยรักษาชาติไปฟังคำพิพากษา ในวันที่ 7 มีนาคม เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอที่ไม่ต้องไต่สวนเพิ่มเติม

“ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัย” ผลการพิจารณา ระบุ

“ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2562 และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังใสวันเดียวกันเวลา 15.00 น” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำคำสั่งดังกล่าวแจ้งต่อพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อให้ไปฟังคำวินิจฉัยในวันและเวลาดังกล่าว โดยคำสั่งศาลระบุด้วยว่าหากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ทราบนัดแล้วไม่มา ศาลจะดำเนินการอ่านคำพิพากษาลับหลัง

ด้าน นายสุรชัย ชินชัย ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ทางพรรคฯ ได้ยื่นชี้แจงข้อกล่าวหาและพยานไปหมดแล้ว ว่าไม่มีเจตนาเป็น ปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาว่าอย่างไร ก็พร้อมยอมรับ

อัยการนัดฟังคำสั่ง คดีนายธนาธรและพวก หลังเลือกตั้ง

ในวันพุธนี้ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพวกรวม 3 คน เข้าพบอัยการ เพื่อทำการส่งฟ้องและขออำนาจฝากขัง กรณีความผิดที่ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจอนาคตใหม่ – The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit ซึ่งได้ทำการวิพากษ์-วิจารณ์ ข่าวการดูด ส.ส. โดย คสช. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561

โดยวันนี้ อัยการได้รับคำฟ้องของพนักงานสอบสวนเอาไว้ แต่ยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้อง และปล่อยตัวนายธนาธร และพวกโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องฝากขัง เพราะทั้งหมดเดินทางมามอบตัวและไม่มีท่าทีว่าจะหลบหนี และได้นัดฟังคำสั่งอัยการอีกครั้ง ในวันที่ 26 มีนาคม 2562

“พวกเรากำลังใจยังหนักแน่น เราเชื่อว่าอัยการจะให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของพวกเรา เราเชื่อในอำนาจของประชาชนในการวิพากษ์-วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบบประชาธิปไตย เราเชื่อว่าอัยการจะทำหน้าที่อย่างยุติธรรม” นายธนาธร กล่าว ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก

นอกจากนายธนาธรแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาในวันนี้ประกอบด้วย นายไกลก้อง ไวทยการ และนางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค และนายทะเบียนสมาชิกพรรค

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง