คสช. ปลดล็อคกิจกรรมทางการเมืองแล้ว
2018.12.11
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ ปลดล็อคการทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ทำให้สามารถชุมนมทางการเมือง ประชุมพรรคการเมือง หาเสียงได้แล้ว
หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกกต. กล่าวว่าที่ประชุมเห็นตรงกันถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนร่างพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทาง กกต. ได้นำเสนอแล้ว และครม. ก็ได้ให้ความเห็นชอบ และ อยู่ระหว่างกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชน และพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งเริ่มกระทำได้แล้ว
“หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ยกเลิก… ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557.. เฉพาะในข้อ 2 .. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เฉพาะในข้อ 12” ตอนหนึ่งของ ราชกิจจานุเบกษา ระบุ
อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. ฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งซึ่งถูกยกเลิกทั้ง 9 ฉบับไปแล้ว และคำสั่งนี้ ยังได้ระบุว่านายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้มีการแก้ไขคำสั่งภายหลังได้
“การยกเลิกประกาศและคำสั่ง... ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้… ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้” คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ระบุ
ทั้งนี้ เนื้อหาโดยสรุปของคำสั่ง คือ การให้ยกเลิก คำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. และคำสั่ง หัวหน้า คสช. รวม 9 ฉบับ ประกอบด้วย
1. คำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เฉพาะ ข้อ 1 ที่ห้ามนายจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคไทยรักษาชาติ ทำธุรกรรมทางการเงิน 2. คำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 ที่ห้ามนายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน และจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ พรรคเพื่อไทย ทำธุรกรรมทางการเงิน 3. ประกาศ คสช. ที่ 39/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง
4. ประกาศ คสช. ที่ 40/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง 5. ประกาศ คสช. ที่ 57/2557 เฉพาะข้อ 2 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้ง ให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว 6. คำสั่ง คสช. ที่ 80/2557 ที่ห้ามแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. แกนนำพรรคประชาธิปตย์ และแกนนำ กปปส. รวมทั้งสิ้น 18 คน เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือทำกิจกรรมทางการเมือง
7. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เฉพาะข้อที่ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 8. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2561 เฉพาะข้อ 4, 5 และ 7 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และ 9.คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เฉพาะข้อ 6 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดำเนินการอันเป็นการหาเสืยงบนโลกออนไลน์ และให้ กกต. และ คสช. เป็นคนกำหนดลักษณะต้องห้ามของการสื่อสารบนโลกออนไลน์
หัวหน้าพรรคเกียน: ประยุทธ์พร้อมลงเล่นการเมือง
ต่อคำสั่งดังกล่าว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน ซึ่ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ทำให้เขาสามารถกลับมาทำธุรกรรมทางการเงินได้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า บัญชีธนาคารของตนเองสามารถใช้ได้หรือยัง และ คำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. พร้อมที่จะลงสนามการเลือกตั้ง
“ไม่ได้รับแจ้ง เป็นการส่วนตัวเรื่องคำสั่งยกเลิกดังกล่าว ยังไม่ได้เช็คกับธนาคารว่าใช้ได้หรือยัง… คำสั่งวันนี้ เป็นคำสั่งที่ทำให้เห็นว่าปี่กลองทางการเมืองชัดเจน มันไม่ใช่นัยยะการกลับสู่ประชาธิปไตย แต่มันแสดงว่าเขาพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนนึง เข้าไปเล่นในสนามการเลือกตั้ง เพราะเขาเป็นผู้เล่นด้วย” นายสมบัติ กล่าว
“มันมีภาวะผ่อนคลายลง แต่อำนาจเต็มของทหารในการแทรกแซงกลไกลต่างๆ ยังอยู่ครบ การควบคุมภรรยาและลูกนักจัดรายการวิทยุ(ลุงสนามหลวง-นายชูชีพ ชีวสุทธิ์) เมื่อ 3 วันก่อน มันยังมีแสดงให้เห็นอยู่ว่า เขายังคงควบคุมสถานการณ์ได้ ยังทำอะไรก็ได้” นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อ คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 แก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามทางการเมืองต่างๆ มีความสำคัญน้อยกว่า การยกเลิก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557
“การยกเลิกคำสั่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ควรจะยกเลิกตั้งนานแล้ว เป็นแค่การให้เสรีภาพทางการเมืองในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้า คสช. ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ ซึ่งสามารถใช้กับคู่แข่งทางการเมืองเท่ากับว่าไม่ได้ทำให้เกิดเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.ฐิติพล กล่าว
“คสช. ควรประกาศว่าจะไม่ใช้ มาตรา 44 หรือควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว ถ้าจะเข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม การที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ ก็ยังเป็นกลไกกั้นเสรีภาพ การยกเลิก มาตรา 44 สำคัญกว่าการแค่ยกเลิกคำสั่ง บางคำสั่ง” ดร.ฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม