องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป แสดงความกังขาต่อความพยายามในการพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย
2015.07.09

ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลไทยและผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ จะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างสันติสุขได้ ภายใต้สภาพการเมืองของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ที่เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขข้อขัดแย้ง ได้กล่าวไว้ในรายงานฉบับหนึ่ง ที่เผยแพร่ในวันพุธ (8 ก.ค. 2558) นี้
เนื้อหาของรายงานส่วนหนึ่งเขียนไว้ว่า หากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ก็ยังคงอาจเกิดผลดี หากไม่เล็งผลเลิศมากเกินไป ซึ่งการเจรจาควรจะมุ่งไปที่การวางรากฐานที่ยั่งยืนสำหรับกระบวนการเพื่อสันติภาพในระยะยาว
“ในสภาพปัจจุบัน การเจรจาสันติภาพจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น” แมทท์ วีลเลอร์ นักวิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำองค์กร อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป กล่าวไว้ในรายงาน
“ลักษณะการปกครองแบบอำนาจนิยม และการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางของรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความสามารถของรัฐบาลในการประนีประนอมที่จำเป็น ขณะที่ผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนเองต่างก็ขาดความมุ่งมั่น พลังด้านการเมือง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการเจรจา” แมทท์ วีลเลอร์ กล่าวเพิ่มเติม
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของไทยได้เข้าร่วมในการประชุมลับ ก่อนการพูดคุย โดยมุ่งที่การพยายามโน้มน้าวให้บรรดากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา
ในรายงานชื่อ “ภาคใต้ของไทย: การเจรจาน่ากังขา” ที่มีความยาว 38 หน้า องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนี้ ได้ตั้งข้อโต้แย้งว่า ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องมองโลกบนพื้นฐานของความเป็นจริง และตั้ง “เป้าหมายแต่พอประมาณ” สำหรับการเปิดการเจรจาขึ้น
“ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการพูดคุยอย่างมีแก่นสาร ตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายควรเน้นหนักที่การวางกรอบงานที่ยั่งยืน และจัดตั้งสถาบันต่าง ๆ ที่จะสามารถทำให้การเจรจาดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อสภาพแวดล้อมอำนวยยิ่งขึ้น” รายงานฉบับนั้นกล่าว
รายงานข้างต้นกล่าวว่า เป้าหมายเหล่านั้น อาจรวมถึงการจัดตั้งตัวแทนที่ยอมรับได้สำหรับทุกฝ่าย และระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการสื่อสาร และยังได้เสริมว่า “การตกลงกันได้เรื่องประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ จะเป็นความคืบหน้าอย่างแท้จริงในสิ่งที่จะเป็นกระบวนการที่ยาวนาน”
การเจรจารอบสุดท้ายที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง และที่จัดขึ้นในยุครัฐบาลที่นำโดยพลเรือน ได้สะดุดลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ในตอนนั้น กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้ยืนกรานให้รัฐบาลมอบอธิปไตยให้กับสามจังหวัดภาคใต้ และยอมรับ “รัฐปาตานีมลายู” นอกเหนือจากข้อเรียกร้องอื่น ๆ
นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย และมีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่ ได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 6,000 คนแล้ว
ลดความคาดหวังลง
องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ เป็นองค์กรที่ดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับสงครามในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และพยายามป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์กรนี้
รายงานล่าสุดเกี่ยวกับประเทศไทยขององค์กรแห่งนี้ พิจารณาการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบสุดท้าย สถานการณ์ปัจจุบันของทั้งสองฝ่าย และให้คำแนะนำในการกลับสู่การพูดคุยอีกครั้งตามกำหนดการ
การเจรจารอบที่แล้วได้ “เปลี่ยนแปลงพลวัตของความขัดแย้งไป” เนื่องจากรัฐบาลยุคนั้น ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงลักษณะทางการเมืองของการก่อความไม่สงบ และได้สัญญาที่จะเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ รายงานฉบับนั้นกล่าว
แต่ก็ทำให้ความคาดหวังที่จะเกิดพัฒนาการสำคัญในการเจรจารอบนี้ลดน้อยลง
“รัฐบาลทหารได้ให้สัญญาอย่างเป็นทางการว่าจะทำการเจรจา แต่หลังจากหนึ่งปี นับแต่ที่เข้ามาปกครองประเทศ ไม่มีหลักฐานใดเลยที่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างก็ยืนกรานว่า กำลังให้ข้อเสนอลับ ๆ แก่กลุ่มก่อความไม่สงบที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่เจรจา” รายงานนั้นกล่าว
ตามรายงานขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป มีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการกลับสู่การเจรจาอีกครั้ง กล่าวคือ การขาดความเป็นเอกภาพของทั้งสองฝ่าย ความยากลำบากในการโน้มน้าวให้พวกหัวรุนแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็น เข้าร่วมในการเจรจา การที่รัฐบาลทหารจำกัดเสรีภาพของประชาชน และความลังเลของรัฐบาลในการกระจายอำนาจ
“แม้รัฐบาลรับปากว่าจะเจรจาต่อไป แต่ก็ปฏิเสธการจัดสรรอำนาจแบบพหุนิยมและการอภิปรายทางการเมือง และส่งเสริมแนวคิด ‘ค่านิยมความเป็นไทย’ และ ‘ความเป็นเอกภาพเดียวกัน’ ซึ่งไม่มีแนวโน้มที่จะลดความตึงเครียดในภาคใต้ลงได้” รายงานนั้นกล่าว “การแก้ไขความขัดแย้งต้องอาศัยความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐและสังคมในพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจทางการเมืองมากขึ้น"
ในทางกลับกัน กลุ่ม BRN ยังคงยินดีที่จะพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ไม่เชื่อว่ารัฐบาลทหารจะจริงจังพอเกี่ยวกับการกลับสู่โต๊ะเจรจา ตามรายงานของดอน ปาทาน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ และผู้ก่อตั้งปาตานีฟอรัม กลุ่มที่ส่งเสริมเสรีภาพการพูดในพื้นที่ท้องถิ่น
ดอน ปาทาน ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ว่า “สำหรับขณะนี้ ไม่เห็นความมุ่งมั่นหรือจริงจังใด ๆ อย่างแท้จริงจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย และเชื่อว่า ‘กระบวนการเพื่อสันติภาพ’ เป็นเพียงวลีที่ไร้ความหมาย ที่มีขึ้นเพื่อใช้ภายในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น”
เตรียมใจพร้อมรับความล้มเหลว
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความพยายามของไทย ในการพูดคุยรอบใหม่ ได้บอกแก่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า รัฐบาลหวังว่าจะสามารถ “ร่วมประกาศว่าจะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุข กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ภายในก่อนสิ้นปีนี้”
แต่เมื่อต้นเดือนนี้ พล.อ. อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลในการเจรจาก่อนการพูดคุย ได้เตือนคนไทยว่า มีความเป็นไปได้ที่ความพยายามเหล่านั้นอาจไร้ผล
“…หากการพูดคุยล้มเหลว หน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดต้องร่วมกันรับผิดชอบ” พล.อ. อักษรา เกิดผล บอกแก่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในบทความหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา