ฝ่ายแบ่งแยกดินแดน: ประเทศไทยไม่พร้อมรับเงื่อนไขการเจรจา

ราซลัน ราชิด และ ภิมุข รักขนาม
2016.04.28
กัวลาลัมเปอร์ และ กรุงเทพ
TH-bomb-1000 เจ้าหน้าที่ดับเพลิง (ขวามือ) และเจ้าหน้าที่อีโอดี ตรวจสอบซากรถที่เกิดไฟไหม้ หลังผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุคาร์บอมบ์ ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559
เอเอฟพี

ความพยายามในการรื้อฟื้นการเจรจา เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องสะดุดลงในสัปดาห์นี้ เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลไทยได้ปฏิเสธที่จะรับรองเงื่อนไขในการเจรจา ตามคำกล่าวของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน ในวันพฤหัสบดีนี้

ผู้แทนเจรจาฝ่ายมาราปาตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า คณะอนุกรรมการทางเทคนิคร่วมของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และของฝ่ายมาราตานี ได้มีมติเห็นชอบในร่างแนวทางการแก้ปัญหาหรือ terms of reference ในก่อนหน้า และคาดว่าคณะเจรจาชุดใหญ่ จะสามารถลงนามรับรองได้ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้

“ฝ่ายไทยไม่พร้อมที่จะลงนามรับรองทีโออาร์” นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม โฆษกของมาราปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในการเจรจากับรัฐบาลทหาร

“เราไม่แน่ใจว่าปาร์ตี้เอ (รัฐบาลไทย) ต้องการพิจารณาทบทวนทีโออาร์นี้อีกครั้งหรือใหม่ หรือว่าจะร่างฉบับใหม่ หรือว่าจะยุติการเจรจาชั่วคราวไปก่อน เราได้รับการบอกกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทยยังไม่ได้อนุมัติเห็นชอบต่อร่างทีโออาร์ฉบับนี้”

การเจรจา เดินถอยหลังในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อพลโทนักรบ บุญบัวทอง ซึ่งเป็นเลขานุการ คณะพูดคุยฯ และเป็นคีย์แมนในการเจรรา มาตั้งแต่ปี 2556 ได้กล่าวยืนยันต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตนได้ถูกปรับเปลี่ยนออกจากคณะพูดคุยฯ

ซึ่งในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลในภายหลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า เป็นการปรับย้ายตำแหน่งหน้าที่ตามวงรอบปกติ

ในวันพุธและพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องในการเจรจา ไม่ได้ออกมาให้คำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการเจรจาที่มาเลเซียแต่อย่างใด

อาหมัด ซัมซามิน เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างไทยกับฝ่ายแบ่งแยกดินแดน แบบตัวต่อตัวที่สะดุดไปเมื่อ ปี 2556 ได้กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นกัน

“กติกาในการเจรจา”

ถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของทีโออาร์ว่ามีว่าอย่างไรบ้าง ในขณะที่แถลงการณ์ของฝ่ายมาราปาตานีที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดีนี้ ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนลงไปว่า เนื้อหาที่ฝ่ายไทยปฏิเสธมีข้อใดบ้าง

นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกของมาราปาตานี กล่าวว่า ในตอนต้นเดือนเมษายน คณะกรรมการระดับนโยบายของฝ่ายมาราปาตานี ได้อนุมัติเห็นชอบในร่างทีโออาร์ และทางคณะอนุกรรมการทางเทคนิค ที่นำทีมโดย พลโทนักรบ บุญบัวทอง ก็ได้ให้ความเห็นชอบในทีโออาร์นี้เช่นกัน หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

“ทีโออาร์เป็นเหมือนกฎกติกา ที่หากไม่มีเสียแล้ว ก็ไม่สามารถมีการแข่งขันกีฬานั้นๆได้” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าว

“ไม่ว่าจะเป็นเพราะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เราก็จะให้เวลา และไม่รีบรัด ในการพิจารณาและตัดสินใจใหม่อีกครั้ง” อาบู ฮาฟิซ กล่าว

นอกจากนั้น อาบู ฮาฟิซ ยังได้กล่าวถึงการที่พลโทนักรบ ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาในการพบปะกันอย่างสั้นๆ เมื่อวันพุธว่า “เขาเป็นเครื่องจักรของทีมเจรจาของไทยผู้ที่กอปรไปด้วยความรู้ และเข้าใจการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพ”

“ก่อนหน้าที่จะถูกโยกย้าย เขามีความหวังว่า ปาร์ตี้เอจะเห็นชอบต่อทีโออาร์ ทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อไม่มีเขาในการเจรจา ทำให้มีผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยอย่างมากมีเดียว” อาบู ฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม

“สัญญาณที่ไม่ดี”

ในประเทศไทย นักวิเคราะห์ เอ็นจีโอ และชาวบ้านต่างได้ให้ทัศนะต่อการสะดุดลงของการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างกังวลใจ

“แน่นอนว่ามันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย สำหรับการเจรจาสันติภาพ” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

รุ่งรวี ยังให้ความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรที่จะให้คำอธิบายว่าทำไมประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะพูดคุยฯ ได้พยายามทำร่วมกันกับฝ่ายผู้เห็นต่างให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยใช้เวลานานหลายเดือน

“ถึงตอนนี้ แนวโน้มที่รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจานั้นดูไม่สดใสนัก” รุ่งรวีกล่าว “พัฒนาการล่าสุดนี้ ได้ก่อให้เกิดความสงสัยต่อรัฐบาลทหารว่า มีความจริงจังในการดำเนินการพูดคุย ที่มีความหมายจริงจังหรือไม่ กระบวนการพูดคุยที่มีอยู่ในขณะนี้ มีความสำคัญต่อการค้นหาทางออกในการขจัดความขัดแย้งที่มีอยู่ในภาคใต้ให้หมดไป”

นางปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอ๊ะ ประธานสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ จังหวัดยะลา กล่าวว่า ทุกคนก็ตั้งความหวังกับการเจรจาในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

“ขอเรียกร้องให้แสดงความจริงใจกับการแก้ปัญหาให้ชัดเจน และให้มีการแถลงความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการเจรจา จากทั้ง 2 ฝ่าย” นางปาตีเมาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนายรักชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่ทีโออาร์ไม่ผ่านการลงนามจากท่านนายกรัฐมนตรีของไทย

“ประเด็นปัญหา คือ หลังจากกลับมาแล้ว การสื่อสารที่จะให้ประชาชนรับทราบ จะสื่อออกมาแนวไหน” นายรักชาติกล่าว แก่เบนาร์นิวส์

“จะต้องร่างทีโออาร์กันใหม่หรือไม่? และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่? เรื่องเหล่านี้ มันเกี่ยวโยงกับความรู้สึกอึดอัดใจของประชาชน ต่อการทำงานของรัฐบาลไทยทั้งสิ้น”

รอยร้าวในกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ในแถลงการณ์ของมาราปาตานี ได้กล่าวว่าวันพฤหัสบดีนี้เป็นวันครบรอบ 12 ปี ของเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ในวันที่ 28 เมษายน 2547 กองกำลังผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนได้โจมตีเป้าหมายต่างในจังหวัดสงขลา ยะลา และปัตตานีพร้อมกัน ซึ่งนำไปสู่การที่ทหารต้องบุกสังหารผู้ก่อการ 32 ราย ที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในมัสยิดกรือเซะที่มีอายุราว 400 ปี

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนได้ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และก่อเหตุเรื่อยมา ได้มีผู้เสียชีวิตในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อ สายมลายูและนับถือศาสนาอิสลามแล้วกว่า 6,500 คน และนับตั้งแต่ก่อนกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุระเบิดและเหตุยิงกันเพิ่มมากขึ้น มีคนตายอย่างน้อย 35 คนในช่วงนี้ โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน

ในวันพฤหัสบดีนี้ ทหารพรานที่อาสาสร้างบ้านใน โครงการบ้านผู้ยากไร้ จังหวัดยะลา หนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ ถูกทำร้ายด้วยระเบิดจนเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บอีกห้าราย

นายโมฮัด อซิซุดดิน โมฮัด ซานิ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอุตารามาเลเซีย (Universiti Utara Malaysia) กล่าวถึง จุดหักเหของการเจรจาแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเจรจาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีเหตุการณ์รุนแรง

นายโมฮัด กล่าวว่า ในทัศนะของตน พัฒนาการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเสียงแตก โดยต้องการที่จะแสดงการต่อต้านกระบวนการสันติภาพที่นำโดยมาราปาตานีผ่านการ ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่กลุ่มฮาร์ดคอร์ได้เรียกร้องให้ใช้ไม้แข็งถึงขั้นการเรียกร้องเอกราช เหนือดินแดนปัตตานีจากประเทศไทย

“การไม่เห็นด้วยต่อทีโออาร์ ยังมีสาเหตุมาจากการที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ต่างๆ แม้ว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรมาราปาตานีขึ้นมา ในขณะนี้ มีกลุ่มขบวนการบางหมู่เหล่า ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้ถูกยอมรับในกระบวนการพูดคุย”  นายโมฮัด กล่าว

ฮาตา วาฮารี ในกัวลาลัมเปอร์,นาซือเราะ ในปัตตานี, ประเทศไทย และ นานี ยูโซฟ ในวอชิงตันดีซี มีส่วนในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง