โฆษกองค์กรมาราปาตานีไม่ยืนยันข้อกำหนดว่าพื้นที่ปลอดภัยเกิดเหตุได้ไม่เกินสามครั้ง
2017.03.17
กรุงเทพฯ และ กัวลาลัมเปอร์

ในวันศุกร์ (17 มี.ค. 2560) นี้ นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกองค์กรมาราปาตานี ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการตั้งพื้นที่ปลอดภัยว่า ฝ่ายไทยและมาราปาตานี มีเพียงการตกลงในกรอบของพื้นที่ปลอดภัยโดยทั่วไป แต่ยังไม่มีการสนทนาหรือมีข้อตกลงร่วมกันในรายละเอียด หรือในระเบียบการปฏิบัติในเรื่องนี้ และไม่สามารถยืนยันคำกล่าวของฝ่ายไทย ที่ว่าจะยอมให้เกิดเหตุรุนแรงพื้นที่ปลอดภัยนำร่องได้ไม่เกินสามครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยสมาชิกคณะฯ ได้พูดคุยกับสื่อมวลชน โดยได้กล่าวถึงสาระสำคัญว่า หากมีเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ที่ใช้ทดลองเป็นพื้นที่ปลอดภัยเกิน 3 ครั้ง ให้สองฝ่ายหาตัวผู้ก่อเหตุร่วมกัน แล้วถ้าหากว่าไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือของใคร ก็จะนำไปสู่การยุติพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง
“นั่นเป็นทรรศนะของฝ่ายไทย ตอนนี้ เราได้ตกลงในกรอบทั่วไปของพื้นที่ปลอดภัย ยังไม่มีการสนทนาหรือข้อตกลงร่วมกันในรายละเอียด หรือในระเบียบการปฏิบัติ” นายอาบู ฮาฟิซ ให้ความคิดเห็นแก่เบนาร์นิวส์ ต่อการให้ข่าวของเลขานุการคณะพูดคุยฯ
“จะมีการขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ในภายหลัง ทีมประเมินจะเข้าพื้นที่ก่อนที่จะรายงานกลับมายังคณะทำงานทางเทคนิค จากนั้น จะเลือกหนึ่งในห้าอำเภอที่เสนอมา ทำเป็นโครงการนำร่อง เมื่อสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุขเห็นชอบ จากนั้นจะมีการเตรียมการพื้นที่ปลอดภัยสามเดือน และลงมือทดลองปฏิบัติสามเดือน” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม
ซึ่งในส่วนนี้ พลตรีสิทธิ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ในขณะนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายผู้เห็นต่าง และประชาชนในพื้นที่ โดยจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมนำร่องใน 1 อำเภอ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจ 1 เดือน โดยคัดเลือกพื้นที่ๆ เกิดเหตุบ่อยครั้ง จากนั้นจะใช้เวลาเตรียมจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง 3 เดือน และทดลองพื้นที่ฯ 3 เดือน
“การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน ถือเป็นมาตรการทดสอบความไว้วางใจระหว่างกันของฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่าง ซึ่งปัจจุบันยังเกิดความไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน สอง เป็นการลดจำนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และ สาม เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาในสิ่งที่ต้องการ” พลตรีสิทธิ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรง นอกเหนือจากกลุ่มก่อความไม่สงบ นั่นคือภัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน การเมืองท้องถิ่น จึงได้มีการกำหนดกันในเบื้องต้นว่า พื้นที่ปลอดภัยจะเกิดเหตุรุนแรงได้ไม่เกินสามครั้ง และจำต้องพิสูจน์ร่วมกันว่าใครเป็นคนทำ แต่ถ้าหากหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ก็จะยกเลิกพื้นที่ปลอดภัย” พลตรีสิทธิ กล่าวเพิ่มเติม
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า "การกำหนดกรอบในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยถือว่าดี จะได้มีทิศทางในการทำงาน ซึ่งหากไม่มีการกำหนดอะไรเลยจะถือว่าทำงานลำบาก ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ ก็ต้องรอดู ส่วนตัวมองว่าให้คณะทำงานได้ดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน จะทำได้หรือไม่ได้ตามที่กำหนดกรอบ”
ทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในเงื่อนไขเบื้องต้นสามประการที่ทางฝ่ายไทยเรียกร้องจากฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง การจัดตั้งพื้นที่ สอง การพัฒนาพื้นที่ และสาม การเข้าถึงความยุติธรรมของทุกฝ่าย ส่วนนายมะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี กล่าวว่า มาราปาตานี ได้เสนอข้อเรียกร้องไปจำนวน 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้ยกปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ สอง ยอมรับกลุ่มมาราปาตานี และ สาม ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยทางกฎหมายต่อตัวแทนพูดคุยของมาราปาตานี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งอำเภอ โดยในเบื้องต้น ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ แล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่อีกครั้ง
ในวันนั้น ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเต็มคณะ ที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) ซึ่งเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงาน ต่อมา มาราปาตานี ได้ออกมาให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน
ซึ่งในแถลงการร่วม มีการระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะตั้งทีมเทคนิคร่วม เพื่อเข้าสู่รายละเอียดในเรื่องกฎกติกา และกระบวนการในการแต่งตั้งคณะประเมินผลร่วม ที่จะตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่เสนอไว้ ซึ่งคณะประเมินผลร่วมจะเสนอผลการประเมินไปยังทีมเทคนิคร่วม และสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพื่อจัดตั้งคณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ ซึ่งคณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ประกอบด้วยตัวแทนจากปาร์ตี้เอ (รัฐบาล) ปาร์ตี้บี (มาราปาตานี) ตัวแทนจากองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 7,000 คน ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมาในปลายปี 2557 หลังจากที่การเจรจาที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 สะดุดลงหลังถูกรัฐประหาร
มาราปาตานี ประกอบด้วย สมาชิกจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู) กลุ่มบีไอพีพี (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี) กลุ่มจีเอ็มไอพี (ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี) และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล (องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี) สองกลุ่ม ได้เจรจาเต็มคณะกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เป็นครั้งแรก ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558
ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ จากปัตตานี มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้