ซาอุดิอาระเบียใช้ระบบ E-track ในการขอเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
2016.07.01
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์ (1 ก.ค. 2559) นี้ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา ได้เข้าหารือกับ นายรอยาล ฮาหมัด เอส อัลบาลาดี หัวหน้ากงสุลซาอุดิอาระเบีย สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย เพื่อเตรียมความพร้อมในการอำนวยการออกวีซ่าแก่ผู้แสวงบุญไทย ที่จะเดินทางไปกับบริษัทบริการการเดินทางไปแสวงบุญในเมืองมักกะห์ ด้วยการใช้ระบบ E-track มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า ในพิธีฮัจญ์ ปี 2559 นี้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ได้นำระบบลงทะเบียนออนไลน์ (E-Track) มาใช้บริหารจัดการการลงทะเบียนของผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ซึ่งทุกคนจะเดินทางไปกับเอเย่นต์ส่งผู้แสวงบุญยังประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ส่วนใหญ่ชาวไทยมุสลิมจะพักที่รอบหินดำหรือกะบะห์ ในเมืองมักกะห์
ระบบ E-track จะมีการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องของผู้แสวงบุญทั่วโลก และกำหนดให้ทุกประเทศที่มีผู้แสวงบุญส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้าระบบ E-Track ก่อนการยื่นขอวีซ่า เพื่อตรวจสอบว่าเอเย่นต์แต่ละรายมีการแสดงรายละเอียดสัญญาที่รักษาผลประโยชน์ของผู้แสวงบุญ
นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า เอเย่นต์ต้องแจ้งรายละเอียดผู้แสวงบุญแต่ละราย เช่น มาจากประเทศใด วัน-เวลา-เที่ยวบินการเดินทาง สัญญาเช่าที่พัก สัญญาการให้บริการอาหาร โดยบริษัทที่รับจัดการเรื่องพิธีฮัจญ์ จะต้องทำสัญญาการจัดเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าบริการ ค่าเช่ายานพาหนะให้เรียบร้อย แล้วส่งให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียตรวจสอบก่อน เมื่อข้อมูลทั้งหมดครบถ้วน รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจึ่งจะสามารถให้การอนุมัติ การขอวีซ่าสำหรับผู้แสวงบุญรายนั้นๆได้
ที่ผ่านมา การไปร่วมพิธีฮัจญ์ของชาวไทยมุสลิม มักเกิดปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ เช่น ตั้งราคาการดำเนินการที่แพงเกินไป การไม่จองที่พักให้กับผู้แสวงบุญ และการไม่ดำเนินการขอวีซ่าที่ถูกต้องให้กับผู้แสวงบุญ เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ นำมาซึ่งการหาวิธีใหม่ในการแก้ปัญหาของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย
จากเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้น ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ซึ่งมีผู้แสวงบุญฮัจญ์เหยียบกันตายมากกว่า 700 คน และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 800 คน ในระหว่างที่ผู้แสวงบุญเดินทางไปขว้างเสาหิน ที่ตำบลมีนา นครเมกกะ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ตามรายงานจากแหล่งข่าว
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า การเตรียมพร้อมสำหรับพิธีฮัจญ์ ปี 2559 มีมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และกรมการศาสนาให้การสนับสนุน โดยคาดว่าสถานทูตฯ จะเปิดให้ยื่นขอวีซ่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการลงทะเบียนผู้แสวงบุญออนไลน์
“ตอนนี้ กรมการศาสนาได้เตรียมความพร้อมทุกด้านแล้ว จึงขอความร่วมมือบริษัทผู้ประกอบการบางราย ที่ยังดำเนินการในบางเรื่องไม่เรียบร้อยแล้ว เช่น รายชื่อ ผู้แสวงบุญ เที่ยวบิน การจัดเช่าที่พัก เป็นต้น ให้รีบดำเนินการโดยด่วน เพื่อให้การออกวีซ่าผู้แสวงบุญเป็นไปด้วยความราบรื่น” นายกฤษศญพงษ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
นายอูเซ็ง (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ประกอบการบริษัทนำเดินทางไปพิธีฮัจญ์ เชื่อว่าระบบใหม่ที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียนำมาใช้ จะช่วยลดปัญหาการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของเอเย่นต์ลง ปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดที่พักที่ไม่เหมาะสม การจัดอาหารให้ลูกค้าไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
“ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้แจ้งให้ทุกประเทศทราบเรื่องการนำระบบ E-Track มาใช้บริหารการจัดการฮัจญ์อย่างเต็มรูปแบบ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือละเลยการปฏิบัติได้ วิธีการนี้ จะสามารถลดปัญหาการบริการการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐานจากผู้ประกอบการ แนวทางนี้จะทำให้ปัญหาของผู้แสวงบุญไทยดีขึ้น” นายอูเซ็งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายอิสมะแอ ชาวจังหวัดปัตตานี ผู้แสวงบุญ ซึ่งเคยถูกบริษัทจัดการเรื่องพิธีฮัจญ์เอาเปรียบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ระบบใหม่เป็นแนวทางที่ดี ที่จะลดการถูกเอาเปรียบจากบริษัทเอกชนที่แสวงหาประโยชน์จากเรื่องนี้ได้
“วิธีไหนก็ได้ที่ช่วยไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้แสวงบุญ ถ้าวิธีนี้สามารถช่วยได้ ก็เป็นที่ยินดีของทุกคน เพราะทุกคนที่ไป เก็บเงินทั้งชีวิต เพื่อต้องการไปแสวงบุญ แต่กลับถูกผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ดีหลอก จะพูดมากก็ไม่ได้ มาห้ามว่าพูดแล้วเดียวฮัจญ์ไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านก็เชื่อ แต่ความจริงเกิดจากการบริการของพวกเขา แต่มาหลอกว่าเพราะความประสงค์ของอัลลอฮ์ มันใช้ได้ที่ไหนแบบนี้” นายอิสมะแอกล่าว
ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับโควตาให้สามารถไปร่วมแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย 10,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวไทยมุสลิมจากจังหวัดภาคใต้