เรืออวนลากข้างรวมกลุ่มทำลายเรือ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมเรือพวกตนเจ็บ 3 ราย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.18
TH-fisheries-1000 เรือตรวจการ 209 ของกรมประมง ที่ได้รับความเสียหาย จอดเทียบท่าเรือ บริเวณหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี วันที่ 18 ธันวาคม 2558
เบนาร์นิวส์

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 เวลา 06.00 น. ที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายอิสมะแอน อิสหมาน เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน ประจำศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี รับคำสั่งจาก นายปรีชา บริเพ็ชร หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี ให้นำเรือตรวจการ 209 ทำการลาดตระเวนดูแลความสงบเรียบร้อย พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ 5 นาย ออกปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. 24/2558

ขณะที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมาถึงบริเวณทะเลชายฝั่ง หน้าบ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พบกลุ่มเรือประมงอวนลากข้าง กำลังทำการจับสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ในระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังเข้าถึงเรือบางนรา กลุ่มเรือประมงอวนลากข้างได้ทิ้งเครื่องมือ และหลบหนี

ต่อมาระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังเก็บกู้เครื่องมือประมงเพื่อนำมาเป็นของกลาง ได้มีกลุ่มเรือประมงอวนลากข้าง ประมาณ 10 กว่าลำ เข้ามาล้อมเรือตรวจการ 209 ของเจ้าหน้าที่ พร้อมทุบทำลายเรือ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย มีด ไม้ และฆ้อน ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีกว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เรือตรวจการ 209 ได้รับความเสียหาย กระจกด้านหน้าเรือแตก เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ถูกนำส่งโรงพยาบาลอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แพทย์ได้เย็บแผล และให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ ได้เข้าแจ้งความ ที่สถานีตำรวจหนองจิก ปัตตานี พร้อมนำหลักฐานภาพถ่ายและเรือที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี กับกลุ่มชาวประมงอวนลากข้างต่อไป ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ทราบแกนนำที่เข้ามาล้อมเรือ หากยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลทางรูปคดี

นับตั้งแต่ที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน และให้เวลา 6 เดือนในการแก้ปัญหา ไทยได้ลงมือดำเนินการสำคัญ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่ามาตรฐานของยุโรป โดยรัฐบาลไทยได้สั่งพักการออกเรือประมงหลายพันลำที่ไม่มีใบอนุญาต หรือมีอุปกรณ์ผิดกฎหมาย และที่ไม่ได้มาตรฐานของอียู

สำหรับเครื่องมือประมงอวนลากข้างนี้ เป็นเครื่องมือผิดกฏหมายตามคำสั่ง คสช. 24/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง (5) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร

นายอิสมะแอน อิสหมาน เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน ประจำศูนย์บริหารจัดการประมงทางทะเลปัตตานี กล่าวว่า "ได้นำเรือพร้อมเจ้าหน้าที่ รวมถึงตัวเอง 5 นาย ด้วยเรือตรวจการ 209 ออกทำการลาดตระเวนปกติ ทุกวันตามคำสั่ง ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีชาวประมงกลุ่มนี้มาทำประมง เพราะวันนี้วันศุกร์ แถมช่วงนี้เป็นช่วงมรสุม คิดว่าออกไปตรวจความเรียบร้อยเท่านั้น แต่พอมาถึง บริเวณหน้าอ่าวบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประมาณเวลา 7.26 น. ก็เจอกลุ่มเรือกลุ่มนี้ กำลังทำการประมง จึงเข้าไป ระหว่างนั้นเขาก็ทิ้งเครื่องมือแล้วนำเรือออก ขณะกำลังเก็บกู้ เขาก็นำพวกเข้ามาล้อมจนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น"

“เจ้าหน้าที่ทุกคนบนเรือพยายาม พูดคุยดีๆพร้อมได้บอกว่า เจ้าหน้าที่ยอมแล้ว ไม่มาจับอีกแล้ว ขออย่ามีเรือง แต่เขาก็เข้ามาทุบตีเรือ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จึงแจ้งมายัง นายปรีชา บริเพ็ชร หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ตำรวจน้ำเข้ามาช่วยเหลือทำให้ชาวบ้านยอมสลายกลับบ้านไป”

โดย แกนนำกลุ่มประมงเรืออวนลากข้างที่เข้ามาล้อมเรือตรวจการ 209 ของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี กล่าวว่า “วันนี้ชาวบ้านไม่มีกินแล้ว อดแล้ว พอออกไปหาปลาก็ถูกเจ้าหน้าที่มาจับ" และได้เข้ามาล้อมด้วยอารมณ์โกรธพร้อมพูดใส่เจ้าหน้าที่ว่า "ขอทำงานดีๆไม่ได้ จะให้เป็นโจรหรือ วันนี้ไม่มีจะกินแล้ว วันนี้จะขอลาก ถ้าไม่เป็นเรื่องก็ยังมาจับอยู่นั่นแหละ”

ด้านนายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “เรื่องที่เกิดขึ้น ขั้นแรกต้องว่าไปตามกฎหมาย สำหรับเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา ประมงผิดกฎหมาย ตอนนี้ ทางจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนกำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ทำให้ต้องใช้เวลาในการช่วยเหลือ ความจริงเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ เพราะทุกคน คือคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ก็ต้องช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรม”

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติพระราชกำหนดกฎหมายฉบับใหม่อย่างเร่งด่วน มาแทนที่พระราชบัญญัติการประมง ซึ่งรัฐบาลอนุมัติเมื่อวันที่ 28 เมษายน เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (หรือ ไอยูยู) และหลีกเลี่ยงการถูกสหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าอาหารทะเลมูลค่าปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท

ภายใต้พรก. ฉบับใหม่นี้ ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกยึดเรือ หรือถูกถอนใบอนุญาต และอาจถูกจำคุกเป็นเวลาสองปี หรือถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงสุด 6 ล้านบาท (ประมาณ 168,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝ่าฝืน และอย่างอื่น หากมีการจ้างแรงงานประมงผิดกฎหมาย ไม่จดทะเบียนเรือประมง ใช้เครื่องมือไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ตาข่ายที่ถี่เกินไป และไม่รายงานการเข้า-ออกท่าเรือถูกต้อง เป็นต้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง