กกต. สั่งเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วยใน 5 จังหวัด เหตุคะแนนไม่ตรงกับบัตรเลือกตั้ง
2019.04.04
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงมติที่ประชุม กกต. ที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 6 หน่วยเลือกตั้ง ใน 5 จังหวัด เนื่องจากผลการนับคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ มีมากกว่าคะแนน และมีคำสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ใน 2 หน่วยเลือกตั้ง ในจังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กกต. ระบุถึงมติที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่มีการพิจารณาถึงกรณีผลการนับคะแนน ส.ส. และ กรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียง และมีคำสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ ใน 2 หน่วยเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพบว่า การขีดคะแนนไม่สัมพันธ์กับการขานคะแนน
นอกจากนี้ ยังสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ใน 6 หน่วยเลือกตั้ง ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1. ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 2 หน่วย ได้แก่หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 5 ต.ปางหลวง อ.เกาะคา และหน่วยเลือกตั้งที่ 3 หมู่ที่ 2 ต.ศาลา อ.เกาะคา 2. ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย 3. เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 12 หมู่ที่ 12 ต.เข็กน้อย ต.เขาค้อ 4. พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.มะตูม อ.พรหมพิราม และ 5. กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 13 หน่วยเลือกตั้งที่ 32 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เนื่องจากพบว่า ผลการนับคะแนนที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับจำนวนผู้มาแสดงตน และไม่ตรงกับรายเซ็นที่ต้นขั้วบัตร จำนวนบัตรที่ถูกใช้ไปคือบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน ไม่ตรงกับผลการนับคะแนน
โดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนเลือกตั้งนำอันดับหนึ่ง ในจังหวัดที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ตามคำสั่ง กกต. มีดังนี้ จังหวัดลำปาง-พรรคเพื่อไทย จังหวัดยโสธร-พรรคเพื่อไทย จังหวัดเพชรบูรณ์-พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพิษณุโลก-พรรคเพื่อไทย และกรุงเทพมหานคร-พรรคพลังประชารัฐ ส่วนที่ต้องมีการนับคะแนนใหม่ ใน 2 หน่วยเลือกตั้ง ในจังหวัดขอนแก่น-พรรคเพื่อไทยนำอยู่
“วันเลือกตั้งใหม่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กกต. แต่คาดว่าจะเป็นหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยผู้สมัครยังคงเป็นชุดเดิมทั้งหมดสามารถหาเสียงได้ แต่ค่าใช้จ่ายจะต้องลดจำนวนลงตามที่กฎหมายกำหนด” นายแสวง กล่าว
นายแสวง ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ กกต. ยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือการกระทำไม่สุจริตที่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งทั้งเขต นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนในเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีปัญหาที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. โดยมีความเป็นไปได้ว่า กกต. อาจจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดในวันเดียวกัน
“การสั่งนับคะแนนใหม่ และการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วยเลือกตั้ง จะมีผลกระทบต่อการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่ง กกต. ยังไม่ได้คำนวณอย่างเป็นทางการ ส่วนเรื่องการให้สูตรคำนวณ สส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้ข้อยุติ” นายแสวง กล่าวชี้แจง
อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชี้ทุกเสียงต้องไม่ทิ้งน้ำ
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีต กกต. กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีการคิดคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า การคิดคำนวณ ส.ส.เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิดสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 วรรคท้าย ซึ่งมีเพียงสูตรเดียว และ กกต. ควรดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
“ในหลักคิดของ รธน. ฉบับนี้ มุ่งให้ทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้มีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า ทุกคะแนนที่มาออกเสียงต้องการสะท้อนสิ่งที่ประชาชนต้องการ หลักคิดคือทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย” นายประพันธ์ระบุ
โดย นายประพันธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้เพิ่งมาคิดตอนนี้ แต่เกิดมานานแล้ว และได้มีการนำเสนอมาตั้งแต่ในชั้นของ กกต. ชุดที่แล้ว ผ่านมายังคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะผ่านการพิจารณายกร่างเป็นกฎหมายลูก ซึ่งรายละเอียดของตารางการคิดคำนวณมีอยู่ที่รัฐสภา สามารถไปดูได้ไม่ได้เป็นความลับ
ส่วนนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในส่วนของ กรธ. ยืนยันว่าต้องคิดคะแนนจากทุกพรรคไม่ได้คิดเฉพาะพรรคที่ได้แต่ ส.ส. เขตเท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ว่าทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำ ซึ่ง กกต. จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ
สิบพรรคเล็ก ยื่น กกต. ขอให้ คสช. ออกคำสั่งรับรองสูตรคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อ
ในวันเดียวกัน นายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี ในฐานะตัวแทนกลุ่มสามัคคีสร้างชาติ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพรรคการเมืองขนาดเล็ก 10 พรรค ได้แก่ พรรคผึ้งหลวง พรรคฐานรากไทย พรรคพลังไทยดี พรรคพลังศรัทธา พรรคคนงานไทย พรรครวมใจไทย พรรคภาคีเครือข่ายไทย พรรคไทยธรรม พรรคประชาไทย และพรรคพลังรัก เดินทางมายื่นแถลงการณ์ต่อ กกต.เรื่อง "คะแนนเสียงที่บริสุทธิ์ของประชาชนทุกคนมีคุณค่าอย่าทอดทิ้ง" ขอให้ กกต. ร้องขอให้ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคำสั่งรองรับคะแนนทุกคะแนนเสียงไม่ให้ตกน้ำ โดยออกเป็นคำสั่งรับรองสูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป
“ขณะนี้ ยังมีความไม่ชัดเจนในผลการเลือกตั้งและการคิดสูตรคำนวณเพื่อทำให้ได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน จนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน นำมาซึ่งความหวาดระแวง สงสัย ไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางกลุ่มจึงขอเป็นตัวแทนสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง” นายสาธุ อ่านแถลงการณ์
โดยสาระสำคัญแถลงการณ์ ระบุถึงกรณีที่เกิดการโอเวอร์แฮงค์ ที่พรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมี ทำให้เกิดประเด็นเรื่องเกณฑ์การคำนวณสูตร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ไม่ชัดเจน ไม่เป็นมาตรฐาน
“จึงควรที่ กกต. จะได้ร้องขอให้ คสช. ออกคำสั่งเพื่อแก้ปัญหาการเลื่อนไหลของคะแนนเสียงที่จะนำมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่จะได้มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ ตามผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ กกต. ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเลือกตั้งรวม 7,920,630 เสียง และได้ที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 137 ที่นั่ง แต่ในเบื้องต้น เมื่อคิดเทียบกับการคำนวณ ส.ส. ที่พึงได้แล้ว พบว่าควรจะมี ส.ส. เพียงประมาณ 111 คน เท่านั้น ซึ่ง กกต. เรียกว่า คะแนนโอเวอร์แฮงค์
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 กกต. สรุปว่า มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ 51,205,624 ราย มีผู้มาใช้สิทธิ์ 38,268,375 คน เป็นบัตรดี 35,532,645 ใบ บัตรเสีย 2,130,327 ใบ และบัตรที่ไม่เลือกผู้สมัครคนใด 605,392 ใบ (ตามประกาศ กกต.ล่าสุดวันที่ 28 มีนาคม 2562) และมีหน่วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ 92,320 หน่วย
และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แบบแบ่งเขต 350 เขต อย่างไม่เป็นทางการ แล้วเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2562 โดยระบุว่า แต่ละพรรคได้ที่นั่งดังนี้ พรรคเพื่อไทย 137 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 97 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 39 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 33 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 30 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 6 ที่นั่ง และ ชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง