ครบรอบ 12 ปีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.03.11
กรุงเทพฯ
TH-disappearance-1000 นางอังคณา นีละไพจิตร ร่วมงานสัมมนาครบรอบการสูญหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรร่มกับเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ วันที่ 11 มี.ค. 2559
นนทรัฐ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (11 มีนาคม 2559) นี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลหลายองค์กร ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงการหายตัวไปครบรอบ 12 ปี ของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเชื่อว่าถูกบังคับลักพาตัว ด้านองค์กรสิทธิฯ ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงท่าทีที่จริงใจในการค้นหาความจริงในเรื่องนี้

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันศุกร์นี้ ที่โรงแรม เดอะ ศุโกศล คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล  ฮิวแมนไรท์วอทช์  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  ร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยเน้นประเด็นคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรและร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย" เพื่อเป็นการรำลึกถึงการหายตัวไปครบรอบ 12 ปี ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายไปเมื่อสิบสองปีก่อน

ในช่วงเริ่มต้นนายแซม ซาริฟี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ได้กล่าวเปิดงานโดยการกล่าว การที่ศาลยกฟ้องคดีอาญาต่อตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวทนายสมชาย โดยชี้ให้เห็นว่า กฎหมายประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการลักพาตัว และปกป้องผู้เสียหาย

“คำตัดสินของศาลในคดีของทนายสมชาย มีผลกระทบกับคนไทยทุกคน ถ้าหากเขาถูกบังคับให้สูญหาย” นายซาริฟีกล่าว

นายคิงสลีย์ แอบบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวถึง เหตุการณ์บังคับสูญหายทนายสมชาย และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยชี้ให้เห็นว่า การสืบสวนและไต่สวนหลายจุดของเจ้าหน้าที่ยังไม่ชัดเจน  ซึ่งเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ทำการทบทวนการสืบสวนคดีนี้ใหม่

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการบังคับสูญหายในประเทศไทยยังเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งองค์กรด้านสิทธิต่างหวังให้ทางการไทยพยายามที่จะออกกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม และยังได้วิจารณ์การทำคดีทนายสมชายของภาครัฐอีกว่า เป็นการดำเนินที่หละหลวม

“เป็นการสอบสวนที่หละหลวม ไม่เข้าท่าของเจ้าหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตามความหวังในการแสวงหาความยุติธรรมยังไม่จบ เราเชื่อว่าประเทศไทย ได้แสดงเจตจำนงแล้ว ด้วยการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย นั่นคือการแสดงเจตจำนงว่าจะยุติปัญหาการบังคับสูญหายในประเทศไทย ถึงเวลาที่จะทำให้เจตนานั้นมีผลในทางรูปธรรม” นายสุนัยกล่าว

ทางด้าน นายเลอรอง เมลลอง รักษาการผู้แทน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าหากรัฐบาลไทยต้องการสร้างความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนก็ควรจะดำเนินสอบสวนคดีด้านสิทธิให้มีความโปร่งใสและชัดเจน

“ทางเดียวที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คน คือ รัฐบาลไทยต้องสร้างความโปร่งใสในการสอบสวน และยกระดับกฎหมายการบังคับสูญหายให้อยู่ในระดับเดียวกับกฎหมายสากล” นายเลอรอง กล่าว

ด้านนายสมชาย คมกริส ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้กฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพของไทยสามารถคุ้มครองประชาชนได้จริง และพยายามผลักดันให้มีกฎหมายเฉพาะสำหรับกรณีการบังคับอุ้มหายและกรณีลักษณะใกล้เคียงด้วย

“กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมีความจริงใจที่จะทำงานในเรื่องเหล่านี้ เพื่อประชาชนในประเทศให้ได้รับการคุ้มครองปกป้องด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแต่ละครั้ง กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไม่มีความสบายใจเลย ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” นายสมชายกล่าว

สุดท้ายนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนมีหลายจุดที่ค่อนข้างไม่ชัดเจน เธอคือคนหนึ่งซึ่งเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายในประเทศไทย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหานี้

“เราต้องไม่ปล่อยให้ผู้สูญเสีย ผู้สูญหาย หรือเหยื่อ ของการบังคับสูญหายต้องเผชิญเหตุการณ์ตามลำพัง... สำหรับดิฉันเองแล้ว 12 ปีของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมคดีสมชาย ในฐานะเหยื่อ และพยานในการบังคับสูญหายในประเทศไทย ดิฉันยืนยันได้ว่าคดีบังคับสูญหายในประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรม” นางอังคณากล่าว

ความเป็นมาของคดีบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร

ในปี 2547 ทนายสมชาย อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ 5 ผู้ต้องหา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน กล่าวว่า ตนเองต้องรับสารภาพ เนื่องจากถูกตำรวจขู่เข็ญทำทารุณกรรม

ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายได้เดินทางผ่านมายังถนนรามคำแหง ใกล้ซอย 69 เพื่อมุ่งหน้าไปบ้านน้องชายของเพื่อน ก่อนถูกกลุ่มคนร้ายลักพาตัวไป ซึ่งพยานให้การต่อศาลว่า ได้ยินเสียงผู้ชายร้องขอความช่วยเหลือ

ในวันที่ 12 มิถุนายน 2547 อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 ราย คือ 1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน. 2. พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป. 3. จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. 4. ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ 5. พ.ต.ท.ชัชชัย เลี่ยมสงวน อดีตรอง ผกก.3 ป. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่งเป็นเวลาสามปี แต่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และในภายหลังญาติได้แจ้งความกับตำรวจว่า พ.ต.ต. เงิน ทองสุก ถูกกระแสน้ำพัดหายไปไม่มีใครพบศพ ต่อมา ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งห้าคน

ในวันอังคารที่ 29 ธ.ค. 2558 นี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยห้าคน ในคดีปล้นทรัพย์และข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อทนายความสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง