ความหวังที่จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุขขณะนี้ ยังคาดเดายาก
2020.01.08
วอชิงตัน

ความหวังที่จะเห็นความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์สองในขณะนี้นั้น ยังไม่สามารถคาดเดาได้ แม้จะมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ของฝ่ายทางการไทย นักวิเคราะห์ ในประเทศสิงคโปร์กล่าวในรายงาน
นักวิเคราะห์ในประเทศสิงคโปร์ ประจำวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชา รัตนัม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ระบุตามรายงานที่เผยแพร่ล่าสุด ว่า "แนวโน้มในประเด็นที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง ระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น คงเป็นประเด็นที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้มีประชาคมนานาชาติเข้าสังเกตการณ์ร่วมในการพูดคุยฯ กับรัฐบาลไทยด้วย"
"แต่หากปราศจากกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมในกระบวนการพูดคุยฯ องค์กรมาราปาตานี (คณะผู้แทน ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็จะยังต้องทนกับสถานภาพที่ขาดความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนฝ่ายขบวนการฯ ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขอยู่นั่นเอง" นักวิเคราะห์กล่าว
ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (หรือ บีอาร์เอ็น) เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่และมีอำนาจที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
"อนึ่งแนวทางที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะให้ส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมือง หรือให้มีการพิจารณารูปแบบของการปกครองตนเองในระดับภูมิภาคใด ๆ เขายังคงใช้วิธีระงับความรุนแรง ในขณะที่จะยังรักษาสถานะทุกอย่างดังเดิม" รายงานระบุ
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมในการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม และบรรดากลุ่มย่อยในจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งฝ่ายการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็น ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้น ในปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย จากเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้
ขณะที่ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ของรัฐบาลไทย ในการเจรจากับฝ่ายผู้เห็นต่าง นำโดยกลุ่มมาราปาตานี ได้มีการแนะนำตัวและคณะของตน ในการแถลงข่าวที่ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ตนคาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเกี่ยวกับฝ่ายผู้เห็นต่าง คู่เจรจาในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
ซึ่งพลเอกวัลลภ ได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องการพุดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยระบุว่า จะพูดคุยกับทุกฝ่าย และ “พยายามที่จะหากลุ่มที่เรียกว่า เป็นคนที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่”
“ก็ได้ประสานกับทางฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ ทางฝ่ายมาเลเซียก็ยินดีที่จะสนับสนุน การดำเนินการดังกล่าวก็จะมีการจัดทีมที่จะมาพูดคุยกับฝ่ายไทย ซึ่งคาดว่าจะเร็วๆ นี้” พลเอกวัลลภ กล่าวแก่ผู้ฟังไทย-เทศ ประมาณ 200 คน โดยระบุต่อว่า “ได้คุยกับเขาว่า เราต้องการคุยกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติการในพื้นที่ ขณะเดียวกันเราก็บอกว่าเราต้องการคุยกับทุกกลุ่ม (ทางมาเลเซีย)... ก็จะดำเนินการในการประสานกลุ่มขึ้นมาพูดคุยกับฝ่ายเรา ซึ่งเราไม่ชัดเจนว่าจะเป็นกลุ่มไหนบ้าง หรือจะมีใครเป็นแกนนำ ซึ่งก็จะต้องดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง” พลเอกวัลลภ กล่าวเพิ่มเติม
ซึ่งพลเอกวัลลภ ยังได้ระบุว่า การพูดคุยฯ ได้ถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะกระทำอย่างต่อเนื่อง ที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญ มุ่งมั่นและจริงใจที่จะดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล โดยมีการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะร่วมทำงานกับพลเอกวัลลภ เพื่อหาวิธีการทำให้สถานการณ์สงบลง เพราะมาเลเซียเห็นว่าประเทศไทยจะไม่ยอมให้ผู้เห็นต่างมีอิสระในการปกครองตนเอง หรือมีเอกราชเหนือดินแดน และอาจทำให้ประเทศไทยมีการจัดการที่รุนแรง และมีคนตายอีกมาก
พลเอกวัลลภ กล่าวว่า “ซึ่งในส่วนของคณะพูดคุยฯ ก็ยังไม่ได้รับฟังปัญหาเรื่องนี้... เรายังไม่ได้เจาะลึกไปถึงปัญหาต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างอย่างลึกซึ้ง” และระบุอีกว่า จะไม่มีการกดดันทางทหาร การพูดคุยต้องเกิดจากความสมัครใจ การให้เกียรติกัน และมีความจริงใจต่อกัน
การพูดคุยอย่างเป็นทางการที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลางนั้น ไม่ได้มีขึ้นมานานหลายเดือนแล้ว และการพูดคุยที่ผ่าน ๆ มา ก็ขาดความคืบหน้าที่สำคัญ และยังมีการกล่าวหาว่า บรรดาผู้นำหัวรุนแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นผู้บงการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ไม่เข้าร่วมในการเจรจาและไม่ให้การสนับสนุนความพยายามพูดคุยเพื่อสันติสุขด้วย