ชาวบ้านเทพาเรียกร้องรัฐทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
2016.02.22
สงขลา

ในวันจันทร์นี้ (22 กุมภาพันธ์ 2559) ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประชาชนกว่าพันคน ได้ร่วมเดินขบวนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะเชื่อว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตชุมชน และขอร้องรัฐทบทวนโครงการใหม่
การรวมตัวของชาวบ้านครั้งนี้ จัดขึ้นที่สนามฟุตบอลโรงเรียนเทพา โดยเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชาวบ้าน ประชาชนที่สนใจ และข้าราชการ โดยกิจกรรมมีทั้งการจัดเวทีให้ความรู้ และเดินรณรงค์
นางสาวรอฮีมะ บือราเฮง อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน อำเภอเทพา กล่าวบนเวทีว่า “ทำไมคนเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเทพาอุดมสมบูรณ์ด้วยเกษตรและประมง แต่คนภายนอกมาทำลายสิ่งที่เราอยู่ด้วยอย่างมีความสุขตั้งแต่เกิด เราจึงต้องปกป้องที่ทำมาหากินของเรา จึงเป็นสาเหตุต้องมาร่วมรณรงค์วันนี้ เพราะที่ผ่านมาพูดกับคนที่สนับสนุนและต้องการสร้างโรงไฟฟ้า ไม่รู้เรื่อง เขาคิดแต่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้”
นายณัฐวุฒิ เขียวมณีนัย ตัวแทนประชาคมคนอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า “คนสะบ้าย้อยขอร่วมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะที่สุด กฟผ. จะขุดเหมืองถ่านหินที่สะบ้าย้อย เอามาเป็นเชื้อเพลิงที่เทพา อำเภอสะบ้าย้อยทั้งอำเภอจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ต้องย้ายชุมชน ย้ายวัด ย้ายมัสยิด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เทพาสะบ้าย้อยหายนะร่วมกัน”
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี จากบ้านควนหัวช้าง อำเภอจะนะกล่าวว่า “หลังจากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ทำให้มีผลกระทบที่จะนะตอนนี้น้ำในลำคลองเน่าเสีย ในป่าพรุเดิม มีปลาสามารถหากินขายเลี้ยงลูกได้ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ปลาในกระชังก็เลี้ยงไม่ได้ สวนยางก็แห้งน้ำยางไม่ออก คนก็เจ็บป่วยมาก นี่คือจะนะ และอาจเป็นอนาคตของเทพาหากมีการสร้างถ่านหินเทพา”
ด้านนายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีกล่าวว่า “ผมขออนุญาตแนะนำให้รัฐบาลทบทวนนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ทั้ง 9 โรงจะดีที่สุด ถ้ารัฐบาลต้องการจะคืนความสุขให้ประชาชนจริงๆ ทำไมผมเสนอแบบนี้ เพราะว่านโยบายเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน วิถีทางอาชีพและปากท้องชาวบ้าน วิถีวัฒนธรรม”
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ได้แสดงหลักฐานจากร่างรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ของโครงการซึ่งพบว่า พื้นที่มัสยิดบ้านคลองประดู่ และมัสยิดมุตนาเย็นน๊ะ อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการด้วย ทำให้เกิดกระแสความกังวลจากพี่น้องชาวมุสลิมว่า มัสยิดทั้ง 2 แห่งจะถูกรื้อเพื่อหลีกทางให้กับการก่อสร้างครั้งนี้
ด้วยสาเหตุดังกล่าว ในวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) หน่วยงานเจ้าของโครงการจึงได้เชิญ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ ม.4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา เพื่อดูพื้นที่มัสยิด และกุโบร์ที่ โดยทาง กฟผ.ได้ชี้แจงว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีการใช้พื้นที่ของมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน)
รายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวนสองเครื่อง กำลังผลิตติดตั้งเครื่องละ 1,100 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,200 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินประเภทซับบิทูมินัสหรือบิทูมินัส
ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติโครงการฯ ประมาณปลายปี 2559 และเริ่มดำเนินก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2560 โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่
ตามแผนกลยุทธ์ (Road Map) โรงไฟฟ้าเทพา เครื่องที่ 1 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบได้ในปี 2564 จากนั้นในปี 2567 จะเริ่มใช้งานเครื่องที่ 2 ได้ รวมทั้ง โครงการคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 134,660 ล้านบาท
กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก่อสร้างสำเร็จ และเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2517 ผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,400 เมกะวัตต์
กลุ่มกรีนพีซ ประเทศไทยเคยรายงานว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจนเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้ฟ้องร้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีรายงานข่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตปรับปรุงการทำเหมือง ไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และให้อพยพผู้คนที่อยู่อาศัยออกนอกรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ไม่มีการพูดถึงการชดเชยแก่ผู้ป่วย
กลุ่มกรีนพีซได้รายงานผลกระทบของถ่านหิน โดย ดร.อาภา หวังเกียรติ จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตว่า สารที่เหลือจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น เถ้าหนัก เถ้าลอย จะมีสารหนู สารตะกั่ว สารปรอท สังกะสี