แอมเนสตี้เผยข้อมูลปี 2558 มีผู้ถูกประหารชีวิตกว่า 1,600 คน มากที่สุดในรอบ 25 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.04.06
กรุงเทพฯ
TH-amnesty-620 ภาพอินโฟกราฟฟิกประกอบรายงานสถานการณ์โทษประหารและการประหารชีวิตทั่วโลกปี 2558 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
เครดิตภาพ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในวันพุธ (6 เมษายน 2559) นี้ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์โทษประหารและการประหารชีวิตทั่วโลก ปี 2558 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการยกเลิกโทษประหารจากประมวลกฎหมาย แต่ในทางปฎิบัติประเทศไทยไม่ได้ใช้โทษประหารมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 นั่นหมายความว่า ในอีก 3 ปีจะครบ 10 ปีของการไม่ใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งแอมเนสตี้ถือว่า เป็นการยกเลิกโทษประหารในทางปฎิบัติ

ในรายงาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงให้เห็นว่า มีประชาชน 1,634 คน ถูกประหารชีวิตใน 25 ประเทศ ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 2532 ประเทศที่ใช้โทษประหารมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก คือ จีน อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ

ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยมี 102 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท

ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ตัวเลขการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ปี 2558 มีผู้คนทั่วโลกถูกประหารชีวิตมากที่สุดในรอบ 25 ปี รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงพรากชีวิตประชาชนโดยใช้ข้ออ้างอย่างผิดๆ ว่า โทษประหารชีวิตทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น

“อิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย ประหารชีวิตประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม การสังหารชีวิตผู้คนเช่นนี้ต้องยุติลง แต่ยังโชคดีที่ประเทศซึ่งประหารชีวิตประชาชนยังคงเป็นประเทศส่วนน้อย และมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกต่างหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต และในปี 2558 มีอีกสี่ประเทศที่ยกเลิกบทลงโทษอันแสนป่าเถื่อนออกจากกฎหมายอย่างสิ้นเชิง” ซาลิล เช็ตตี้กล่าวในรายงาน

“2558 เป็นปีแห่งความสุดโต่ง เราได้เห็นพัฒนาการที่น่าตกใจอย่างมาก แต่ก็ได้เห็นพัฒนาการที่ทำให้เกิดความหวังเช่นกัน สี่ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างถาวร เป็นเหตุให้ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ห้ามใช้การลงโทษที่น่าสะพรึงกลัวสุดเช่นนี้แล้ว ไม่ว่าความถดถอยระยะสั้นจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มระยะยาวยังคงชัดเจนว่า โลกกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตจึงต้องตระหนักว่า พวกเขาอยู่ในด้านที่ผิดของประวัติศาสตร์ และ ควรยกเลิกการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดนี้เสียที” เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพิ่มเติม

ความคิดเห็นเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตของไทย

นายภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า หากมีคนที่กระทำผิด แล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ อาจสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับสังคมได้ ดังนั้นโทษประหารจึงจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับคนส่วนมากที่เป็นผู้บริสุทธิ์

“ถ้าเหตุการณ์เป็นลักษณะที่สะเทือนขวัญต่อกลุ่มคนจำนวนมาก ถ้าบุคคลดังกล่าวยังอยู่ จะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นโทษมันควรมีอยู่ จะได้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่นอีก ไม่เช่นนั้นถ้าไม่อยากให้มีโทษประหาร ผู้กระทำผิดก็ต้องติดคุกตลอดชีวิตห้ามอภัยโทษ จะได้ดูสมเหตุสมผลกับความรุนแรงที่กระทำลงไปเพราะถ้าออกมาอีก คนในสังคมก็จะหวาดกลัว” นายภูริพงศ์กล่าว

“ถ้าให้ผมเสนอทางออกก็อาจให้ทดลองทำตามคำแนะนำของ NGO โดยยกเลิกโทษประหารสัก 2 ปี แล้วเก็บสถิติตัวเลขการกระทำผิด ถ้าหากพบว่ามีการกระทำผิดเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าการยกเลิกโทษประหารไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โทษประหารก็ควรถูกนำกลับมาใช้เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว ถือว่าเป็นวิธีคิดแบบใช้หลักสถิติและวิทยาศาสตร์ เป็นการพิสูจน์สมมติฐาน” นายภูริพงศ์เพิ่มเติม

นายภัทรปิยะ อินทร์ขลิบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากจังหวัดขอนแก่นแสดงความคิดเห็นว่า “มันอาจจะทำให้คนทั่วไปคิดว่า เขาสามารถก่ออาชญากรรม หรือฆ่าใครก็ได้ เพราะยังไงซะโทษหนักที่สุดของการกระทำผิดก็ไม่ใช่โทษประหาร อาจจะทำให้คนสามารถก่อคดีง่ายขึ้นก็ได้ ดังนั้นโทษประหารจึงควรมีอยู่เพื่อให้คนกลัวที่จะทำผิด”

การนำโทษประหารมาใช้ในสังคมไทย

โทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1895 โดยได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาคดีอาญาและการลงทัณฑ์ หรือ พระอัยการอาญาหลวง ผู้กระทำความผิดในคดีมุ่งร้ายต่อราชวงศ์ เบียดเบียนประชาชนให้ทุกข์ยาก ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้ต้องโทษ ขัดขืนการจับกุม ออกหมายเท็จ เปลี่ยนแปลงคำให้การ และละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการจะถูกตัดสินลงโทษด้วยการตัดศีรษะ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อโทษประหารชีวิตเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุติโทษประหารชีวิต แต่ได้มีการลงความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลายกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ควรเปลี่ยนรูปแบบการประหารชีวิตเป็นวิธีการที่มีความทรมานน้อยกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ จึงได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 13 ให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า

โทษประหารชีวิตของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 เมื่อรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายห้ามตัดสินลงโทษประหารชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิต สำหรับผู้เยาว์ นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2546 มาตรา 19 กำหนดให้เปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต จากการยิงเป้า เป็นฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นเลือดแทน และในปีเดียวกันนั้นมีการประหารชีวิตนักโทษ 4 ราย (ในคดียาเสพติด 3 ราย และคดีฆ่าคนตาย 1 ราย)

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย และวิธีการประหารชีวิตในกฎหมายไทย แต่ประเทศไทยยังคงมีจุดยืนในการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยออกเสียงคัดค้านมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทั่วโลกพักการประหารชีวิต และถัดมาในปี พ.ศ. 2552 นักค้ายาเสพติดสองรายถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งนับเป็นคดีประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดสองรายแรกของประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีการประหารชีวิตอีกเลยจนถึงปัจจุบันรวมเวลาได้ 7 ปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง