เจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาของสภาอุยกูร์โลกว่าทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง
2016.03.07
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์( 7 มี.ค. 2559) นี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ได้กล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของสภาอุยกูร์โลกที่ว่า ได้มีการทำร้ายร่างกายผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายชาวอุยกูร์ ที่รอการส่งตัวออกนอกประเทศ อยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ซอยสวนพลู
พลตำรวจโทณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ไม่มีการที่เจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายชาวอุยกูร์และปฏิเสธให้การรักษาพยาบาล และผู้ต้องขังชาวอุยกูร์เอง ก็ไม่ได้มีการรบกวนเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
“เนื้อความตามเวบไซต์ไม่ได้เป็นความจริงหรอกครับ เพราะอุยกูร์เองไม่ได้มีความเคลื่อนไหวรบกวน” พล.ต.ท. ณัฐธร กล่าว
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เวบไซต์ของสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ได้เขียนเนื้อความกล่าวหาเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า ได้ทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังชาวอุยกูร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูหนังที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อหน้าชาวอุยกูร์ 6 คน ทำให้เกิดโต้เถียงกัน เมื่อมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ ได้มีการทำร้ายร่างกายชาวอุยกูร์ จนได้รับบาดเจ็บและไม่ได้รับการรักษาพยาบาล
พล.ต.ท. ณัฐธร กล่าวว่า มีองค์กรระหว่างประเทศเข้าเยี่ยม และให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวชาวอุยกูร์ตามปกติ เช่น มีองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กรยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR)
ในเรื่องนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล ได้กล่าว ตอบปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
“ถ้าไม่มีหลักฐานอะไรที่ชัดเจน จะมากล่าวอ้างลอยๆ ไม่ได้ครับ” พล.ต. วีรชนกล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า ทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชาวอุยกูร์มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการจับกุมคุมขังตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองก็ตาม
“ในกรณีนี้ยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมา นอกเหนือจากการจับกุมในฐานะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่รัฐยังเน้นให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด” พล.ต.วีรชนกล่าว
“การปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์หรือใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาลักษณะอย่างนี้นี่ ก็มีกติกา มีกฎหมายอยู่แล้วในเรื่องของการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ว่ากันตามนั้น เพราะเรามีกฎหมายเดียวในการดูแลคนเข้าเมืองในลักษณะอย่างนี้” พล.ต.วีรชนกล่าวเพิ่มเติม
“เราตระหนักถึงเรื่องความละเอียดอ่อนในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เรารู้ว่าบางส่วนก็ถูกกดดันให้หลบหนีออกมา เพราะสภาพความเป็นอยู่ เรื่องความปลอดภัยอะไรก็แล้วแต่ แต่บางส่วนมีความสมัครใจพัวพันในเรื่องค้ามนุษย์ต่างๆ ตรงนี้ ต้องมีการแยกแยะให้ออก”
ทั้งนี้ ชายชาวอุยกูร์ทั้งหก และชาวอุยกูร์อีก 50 คน ได้ถูกคุมขัง ที่สถานกักขัง ในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาอย่างน้อยสองปีแล้ว หลังจากที่ถูกพบที่ค่ายค้ามนุษย์ ทางตอนใต้ของประเทศไทย
"เรายังมีความกังวลว่า การทำร้ายร่างกายนี้และไม่ได้รับการรักษาพยาบาล จะยังคงมีต่อไป จนกว่าชนกลุ่มนี้จะถูกปล่อยตัวจากสถานที่คุมขังเหล่านี้" สภาอุยกูร์โลก (WUC) กล่าวต่อ
"ตอนนี้ย่อมเป็นพันธกิจของรัฐบาลไทย ที่จะรับรองว่ากลุ่มที่เหลืออยู่ของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ จะถูกปล่อยเป็นอิสระจากการคุมขัง เมื่อสมควรแก่เวลาและให้การดูแลพวกเขาอย่างถูกต้องเพียงพอ"
ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สภาอุยกูร์โลกและกลุ่มสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ส่งชาวอุยกูร์เกือบ 100 คนไปยังประเทศจีน - จุดประกายให้เกิดการประท้วงในประเทศตุรกี ซึ่งถือว่าเป็นที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนอุยกูร์ ที่อยู่นอกมณฑลซินเจียง
ในขณะเดียวกันนั้น สภาอุยกูร์โลกยังกล่าวว่าได้รับ "ข้อมูลโดยตรงจากแหล่งข้อมูลของตนในประเทศไทยที่บอกว่า มีชาวอุยกูร์อย่างน้อย 25 คนถูกฆ่าตายเพราะไม่ต้องการขึ้นเครื่องบิน" - เป็นข้อกล่าวหาที่ทางกรุงเทพฯได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และปรากฏว่าไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สภาอุยกูร์โลกได้ลบข้อความกล่าวอ้างนั้น จากข่าวที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของตน
เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 ได้มีการลักลอบเข้าเมืองของชาวอุยกูร์กว่าสี่ร้อยคน โดยผ่านทางประเทศลาวและกัมพูชา เพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศมาเลเซียและหวังว่าจะได้เดินทางไปยังประเทศตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ภาษาเตอร์กิชเช่นเดียวกับชาวอุยกูร์ หนีออกจากเขตปกครองพิเศษในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน เนื่องจากถูกรัฐบาลจีนกดขี่ข่มเหงหรือแม้แต่ทำร้ายร่างกาย
ส่วนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับตัว และดำเนินตามกระบวนการกฎหมายคนเข้าเมือง ได้มีเจ้าหน้าที่ทางการจีนเข้ามาร่วมดำเนินกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ในขณะที่ทางรัฐบาลตุรกีประกาศว่าชาวอุยกูร์เหล่านั้นมีสัญชาติตุรกี และพร้อมรับทั้งหมดไปตั้งรกรากในตุรกี
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยได้ส่งชาวอุยกูร์ไปยังประเทศตุรกีเกือบ 180 คน และส่งชาวอุยกูร์อีกเกือบ 100 คนกลับไปให้ประเทศจีน เพราะถูกพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนจีน และมีอาชญากรรมที่ทางการจีนต้องการตัว เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมปี 2558
ด้านนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ที่ให้ความช่วยเหลือชาวอุยกูร์และชาวโรฮิงญาทางด้านกฎหมาย กล่าวว่า ในขณะนี้มีชาวอุยกูร์อยู่เกือบหกสิบคนที่ยังรอการตัดสินใจของประเทศไทยว่าจะส่งตัวไปยังประเทศที่หนึ่ง ซึ่งน่าจะหมายถึงประเทศจีนหรือประเทศที่สาม
“อุยกูร์ที่เหลือถูกพิจารณาว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย รอส่งตัวไปประเทศที่สามหรือประเทศที่หนึ่ง ถูกขังลืมไว้ก่อน ซึ่งดีกว่าถูกส่งไปยังประเทศที่หนึ่ง” นางชลิดากล่าว