ไทย: พูดคุยสันติสุข-มาราปาตานี เห็นชอบพิจารณาพื้นที่ปลอดภัย
2016.09.02
กัวลาลัมเปอร์ และ กรุงเทพ

ในการพูดคุยสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการครั้งล่าสุด ในวันศุกร์ (2 กันยายน 2559) นี้ คณะพูดคุยสันติสุขของไทย และองค์กรมาราปาตานี ได้ตกลงร่วมกันที่จะพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย หรือ “เขตหยุดยิง” เฉพาะในบางพื้นที่ รวมทั้งข้อเสนอของเครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง สามจังหวัดชายแดนใต้
“ทางคณะพูดคุยฝ่ายไทยก็ได้นำข้อห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านปรารถนาที่จะให้ยุติเหตุความรุนแรงในพื้นที่เสียก่อน แล้วก็ได้พอดีกับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ก็ได้ยื่นหนังสือมา เราก็ได้เอาหนังสือนั้นยื่นกับทางกลุ่มผู้เห็นต่าง[ปาร์ตี้บี]ด้วย” พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของไทยกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว หลังจากคณะพูดคุยฯ เดินทางกลับจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มาถึงกรุงเทพ
“เขาก็อาจจะรับไปพิจารณา ก็อาจจะตอบเป็นเอกสารหรือว่าก็มาเป็นข้อพิจารณาในการพูดคุยในครั้งต่อไป” พลเอกอักษรา กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม พลเอกอักษรา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังจะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดเรื่องนี้ ในการเจรจาครั้งถัดไป ซึ่งยังต้องรอฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก หรือประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงานว่าจะเป็นเมื่อใด
ซึ่งในวันเดียวกันนี้ นายอาบูฮาฟิซ อัลฮาคิม โฆษกมาราปาตานี กล่าวแก่ ยืนยันแก่ผู้สื่อข่าวในมาเลเซียว่า ทั้งสองฝ่ายต่างได้เห็นด้วยในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย
“เรารอให้เอ็นจีโอเหล่านั้น ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยมาให้เราดู เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ เรามีแผนที่ได้รับมาก่อนจากคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ อยู่แล้วหมือนกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายกับกลุ่มประชาสังคม 23 แห่ง” นายอาบูฮาฟิซ กล่าว
“วันนี้ พูดไม่ได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ถือว่ามีความคืบหน้าหนึ่งก้าว ถ้าหากพิจารณาถึงอุปสรรคในการเจรจาในก่อนหน้านี้” นายอาบูฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม หลังจากการเจรจาเป็นเวลาสามชั่วโมงเสร็จสิ้นลง
การเจรจาในวันนี้ ไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง แต่ทางมาราปาตานีได้มีการแถลงข่าวกลุ่มย่อย หลังการเจรจาสามชั่วโมงสิ้นสุดลง
นายอาบูฮาฟิซ อัลฮาคิม โฆษกมาราปาตานี (เน็คไทสีแดง) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ที่โรงแรมโรสการ์เด้น ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 (ฮาตา วาฮารี /เบนาร์นิวส์)
เหตุระเบิด 'ไม่ใช่การขยาย' เขตปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
การเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใน พ.ศ. 2556 โดยมีการเจรจาเต็มคณะสองครั้ง ก่อนสะดุดลง เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์หมดอำนาจ
หลังจากนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการรื้อการเจรจา โดยฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ประกอบด้วย สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางราย ขบวนการบีเอ็มพีพี ขบวนการจีเอ็มไอพี และบางกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มมาราปาตานีขึ้นมา เพื่อการเจรจากับรัฐบาลไทย และเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558
ต่อมา การเจรจาสะดุดลงในเดือนเมษายนนี้ เพราะทางการไทยไม่เห็นชอบกับทีโออาร์ ซึ่งเป็นเหมือนเงื่อนไขในการปฏิบัติในระหว่างการพูดคุย และการที่มาราปาตานี ไม่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยและไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้ แต่ได้มีการแก้ไขในการเจรจานอกรอบของคณะอนุกรรมการร่วมทางเทคนิกของสองฝ่าย และการพูดคุยในวันศุกร์ 2 กันยายน นี้ ถือเป็นการรื้อฟื้นความพยายามในการเจรจาอีกครั้ง
การพูดคุยรอบใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ที่มีผู้ต้องสงสัยเป็นบุคคลจากสามจังหวัดชายแดนใต้
ในก่อนหน้า เมื่อวันที่ 10 ถึง 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิด เหตุพยายามวางระเบิด และเหตุวางเพลิงกว่าสิบแห่ง ในพื้นที่ท่องเที่ยวของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย รวมทั้งการวางระเบิดที่บริเวณโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ในปัตตานี ในสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับบุคคลต้องสงสัยในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งที่มีภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างน้อยสี่ราย
อย่างไรก็ตาม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า ตนเองไม่คิดว่าฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้จะทำไปเพื่อเป็นการขยายเขตปฏิบัติการ แต่เชื่อว่าเป็นการเมือง หรือฝ่ายการเมืองเป็นผู้ใช้ให้ก่อเหตุ
“ผมมั่นใจว่าไม่ใช่เป็นการขยาย(เขต)แล้วกัน แต่เป็นเรื่องการเมือง แต่ให้เข้าไปทำงาน ไปสร้างสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” พลเอกประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันศุกร์นี้
บีอาร์เอ็นในพื้นที่ แสดงการต่อต้านมาราปาตานี
ส่วนในวันนี้ ในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ได้เกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดคาร์บอมบ์ไว้ใกล้บ้านพักของผู้กำกับการ สภ.แว้ง แต่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ระเบิดได้เสียก่อน
สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในพื้นที่ว่า ทางขบวนการมีเจตนาก่อเหตุระเบิดเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเจรจาของมารา ปาตานีกับฝ่ายคณะพูดคุยฯ ของไทย ซึ่งในมาราปาตานี มีนายอาวัง ยะบะ และนายสกรี ฮารี แกนนำของบีอาร์เอ็น ทำหน้าที่เป็นประธาน และหัวหน้าคณะพูดคุยของมาราปาตานี ตามลำดับ
“เราต้องการให้เกิดระเบิดตรงกับวันเจรจา แต่โชคไม่ดีที่ระเบิดไม่ทำงาน ถูกเก็บกู้ได้เสียก่อน” สมาชิกบีอาร์เอ็นรายหนึ่งกล่าวในวันนี้
ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ยังไม่มีการเซ็นทีโออาร์ และย้ำเน้นให้มีการการจัดตั้งเขตปลอดภัยเสียก่อน
“ไม่มี ใครจะลงก็คุยกันไปสิ ก็บอกแล้วต้องเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ซะก่อน ก็เป็นมติไปแล้วว่า ให้เขาเอาไปคุยอย่างนี้ คุยก็คือคุย มันจะจบหรือไม่จบ มันก็คือการปฎิบัติ หลายเรื่องมันไม่เกิด ก็คุยกันต่อ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ทางด้านนางรอชิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงแสวงหาสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในยี่สิบสามองค์กรผู้หญิง ที่ร่างข้อเสนอในการจัดตั้งเขตปลอดภัยต่อทางคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า ตนเองทราบข่าวกรณีที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยและมาราปาตานี จะมีการพูดเรื่องเขตปลอดภัย และรู้สึกดีใจมาก
“เรื่องพื้นที่ปลอดภัย Safety Zone เป็นสิ่งที่ประชาชนและทุกคนหวังมาตลอดว่า คณะพูดคุยจะนำประเด็นนี้มาพูดคุย ฉันรู้สึกมีความหวัง กับการพูดคุย ดีใจที่คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายรับฟังเสียงประชาชน เสียงผู้หญิง มั่นใจว่าจากจุดเริ่มต้น Safety Zone จะสามารถนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” นางรอชิดะห์กล่าว
“หลังจากนี้ เราจะต้องร่วมหารือกับ 23 องค์กรผู้หญิงในพื้นที่เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อกำหนดรายละเอียด จริงๆข้อเสนอมีอยู่แล้ว เพียงแค่ควรนำมาตรวจรายละเอียดให้ครบก่อนที่จะเสนอคณะพูดคุย” นางรอชิดะห์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“ถนน ตลาด วัด มัสยิด และโรงเรียน ควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับประชาชนผู้บริสุทธิ์” นางรอชิดะห์กล่าวเพิ่มเติม
*รพี มามะ จากนราธิวาส และ นาซือเราะ จากปัตตานี มีส่วนร่วมในรายงาน