หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขเผยการพูดคุยยังเดินหน้าต่อ

นาตาลี ศรีสุจริต และ นาซือเราะ
2016.04.29
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี
TH-bomb-1000 เจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบที่เกิดเหตุระเบิดริมถนน โดยผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนเป้าหมายเป็นรถของเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันศุกร์ (29 เมษายน 2559) นี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยฯว่า ปัจจุบัน การพูดคุยฯ ยังคงเดินหน้าอยู่ แม้ว่าคณะพูดคุยฯ จากไทยและองค์กรมารา ปาตานี จะมีความเห็นและข้อเสนอบางเรื่องที่ไม่ตรงกันก็ตาม

​พลเอกอักษรา เปิดเผยว่า ข้อเสนอของคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย คือ ต้องการให้ฝ่ายเห็นต่างฯ ยุติการสร้างความรุนแรง และกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับทั้งคณะพูดคุยฯ และประชาชน ขณะที่อีกฝ่ายเสนอให้รัฐบาลไทยทำบันทึกข้อตกลงร่วมเพื่อรับรองสถานะ และชื่อเรียกของกลุ่ม

“มีเรื่องเดียวที่ฝ่ายเราและฝ่ายผู้เห็นต่างยังมองไม่ตรงกัน คือ ผมตั้งคณะทำงานเทคนิคให้ไปช่วยกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความไว้วางใจกับประชาชน แต่ทางฝ่ายผู้เห็นต่างอยากได้บันทึกข้อตกลงร่วม” พลเอกอักษรา กล่าวแก่สื่อมวลชนในกรุงเทพ

“หากยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ สังคมจะไม่ไว้ใจกระบวนการพูดคุยฯ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องยุติความรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้ได้ก่อน แล้วจึงมาร่วมกันจัดทำข้อตกลงให้ครอบคลุมการปฏิบัติในห้วงเวลาของระยะการสร้างความไว้วางใจ” พล.อ.อักษรา กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่คณะพูดคุยฯ พยายามทำคือ การแยกกลุ่มผู้เห็นต่างที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ออกจากขบวนการผิดกฎหมายอื่นๆ และคณะพูดคุยฯ ได้ส่งต่อบันทึกข้อตกลงที่อีกฝ่ายได้เสนอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ข้อตกลงใดๆ มีข้อความที่ขัดแย้งต่อกฎหมายไทย และกติกาสากล

พลเอกอักษรา ได้นำคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขไปเจรจากับฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นแกนกลางเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ผู้แทนเจรจาฝ่ายมาราปาตานี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า คณะอนุกรรมการทางเทคนิคร่วมของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและของฝ่ายมาราตานี ได้มีมติเห็นชอบในร่างแนวทางการแก้ปัญหา หรือ terms of reference ในก่อนหน้า และคาดหวังว่า ในวันพุธที่ผ่านมานั้น คณะเจรจาชุดใหญ่ จะสามารถลงนามรับรองในการประชุมครั้งนี้ได้

“ฝ่ายไทยไม่พร้อมที่จะลงนามรับรองทีโออาร์ เราไม่แน่ใจว่าปาร์ตี้เอ (รัฐบาลไทย) ต้องการพิจารณาทบทวนทีโออาร์นี้อีกครั้งหรือใหม่ หรือว่าจะร่างฉบับใหม่ หรือว่าจะยุติการเจรจาชั่วคราวไปก่อน เราได้รับการบอกกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทยยังไม่ได้อนุมัติเห็นชอบต่อร่างทีโออาร์ฉบับนี้” นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม โฆษกของมาราปาตานี กล่าว

นายกรัฐมนตรี บอกการพูดคุยไม่สำเร็จเนื่องจากมีเจตนารมณ์ต่างกัน

ในวันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ โดยชี้ว่า เหตุที่การพูดคุยไม่ประสบความสำเร็จนั้น เนื่องจากเจตนารมณ์ขององค์กรมารา ปาตานี ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และรัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายในประเทศไปเจรจากับกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายได้

“ถ้าอีกฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่ตรงกันมันก็แก้ได้ องค์กรที่มีชื่อ (ในองค์กรมาราปาตานี) ขึ้นตามทะเบียนต่างๆ เหล่านี้ผิดกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลไม่สามารถไปต่อรองได้ โดยเอากฎหมายในประเทศไปต่อรองกับเขา ประเทศไทยเจรจากับผู้กระทำความผิดไม่ได้”นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีเผยว่า การพูดคุยเป็นสิ่งที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการให้เกิดขึ้น แต่รัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเชื่อว่า รัฐบาลไม่ควรเจรจากับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และรัฐบาลไม่สามารถรับเอาข้อเสนอของฝ่ายที่กระทำผิดกฎหมายมาปฎิบัติได้

“เราหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว การไปพูดคุย ผมถึงบอกว่าอยากจะไปคุยก็ไปคุย รัฐบาลที่แล้วอยากจะคุยก็เชิญ ผมก็ต้องมาตามแก้อยู่นี่ไงล่ะ แล้วมันจะจบไหมล่ะคุยกัน?” นายกรัฐมนตรีถามกลับมายังผู้สื่อข่าว

“เจตนารมณ์อันแรกก็ไม่ตรงกันแล้ว จะมาขอให้เรียกชื่อกลุ่ม ผมรับรองชื่อเขาได้ไหม? เพราะมันก็จะมีกลุ่มตามมากันเรื่อยๆ แล้ววันหลังก็ขึ้นทะเบียนขึ้นไป รัฐก็ผิด เพราะฉะนั้น ใครมาคุยในประเทศเมื่อไหร่ก็ผิดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง