ผบ.ทบ.เยือนอาเจะฮ์ลงนามด้านความมั่นคงร่วมอินโดนีเซีย
2020.01.14
ปัตตานี กรุงเทพฯ และจาการ์ตา

ในวันอังคารนี้ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางไปยังจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อลงนามร่วมมือด้านความมั่นคง กับผู้บัญชาการทหารบกอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้นำจิตวิญญาณ และอดีตแกนนำกองกำลังอาเจะฮ์เสรี เพื่อเรียนรู้การสร้างสันติสุข
พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ในการประชุมร่วมกับ พลเอก แอนดิกา เปอกาซา ผู้บัญชาการทหารบกอินโดนีเซีย ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือฝึกซ้อมรบร่วม และความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน
“ข้อตกลงอยู่ในเรื่องการศึกษาในการแลกเปลี่ยน นายทหารนักเรียนในการให้ความร่วมมือเรื่องการฝึกร่วมระหว่างสองกองทัพ และมีการบันทึกการประชุมร่วมกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ การให้ความร่วมมือกันในเรื่องของการรักษาความมั่นคงระหว่างสองประเทศ โดยที่จะไม่ยอมให้กลุ่มคน หรือบุคคลที่เป็นภัยต่อทั้งสองประเทศใช้พื้นที่ของประเทศทั้งสองในการก่อการร้าย หรือกระทำผิดกฎหมายระหว่างสองประเทศ” พลเอกอภิรัชต์ กล่าว
พลเอกอภิรัชต์ กล่าวว่า พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ร่วมเดินทางมาเยือนอินโดนีเซียด้วย จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อประสานงานการดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงที่มีร่วมกันระหว่างไทยกับกองทัพอินโดนีเซีย
ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของการเยือน ที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับ ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแชร์ข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับ "การเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏหัวรุนแรง หรือกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ"
'อาเจะฮ์ มีสันติภาพ'
คำแถลงการณ์ที่ออกโดยกองทัพอินโดนีเซียต่อมานั้น ไม่ได้ระบุว่า ข้อตกลงความร่วมมือจะนำไปใช้กับกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิม ในอินโดนีเซียได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงกลุ่มก่อการร้ายที่ฝักใฝ่กลุ่มรัฐอิสลามในอินโดนีเซียอย่างกลุ่ม Jamaah Ansharut Daulah (JAD) ซึ่งเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเชื่อว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่โจมตีทั่วหมู่เกาะในปีที่ผ่านมา
พลเอกอภิรัชต์ ระบุว่า นอกจากการประชุมร่วมกับ พลเอกแอนดิกา แล้ว ยังได้พบกับผู้นำจิตวิญญาณ และอดีตกองกำลังอาเจะฮ์เสรี เพื่อเรียนรู้ ให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการสร้างความสันติมากขึ้นด้วย
“เขา (ฝ่ายอาเจะฮ์) ก็ยังมองว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น น่าจะสงบสุขได้เร็วกว่าอาเจะฮ์ซะด้วยซ้ำ เนื่องจากประเทศไทยนั้น ภาคใต้รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพประชาชนได้นับถือศาสนา ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน มีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกัน อีกทั้งมีสิทธิเลือกตั้ง… สามารถเลือกผู้นำท้องถิ่น ผู้นำทางการเมือง ตามที่ท่านเลือกแล้วผลลัพธ์ก็ออกมาแล้ว ท่านเลือกผู้นำคนนี้มาเป็นผู้นำระดับประเทศ ผู้นำท้องถิ่น แล้วผมยังไม่รู้ว่าจะต้องเรียกร้องอะไรอีก ยังจะต้องก่อเหตุกันอีกต่อไป” พลเอกอภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จังหวัดอาเจะฮ์เคยมีปัญหาขัดแย้งรุนแรงระหว่าง คนท้องถิ่นกับรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเริ่มต้นความรุนแรงในช่วงปี 2519 ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต เพราะชาวอาเจะฮ์รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และไม่เท่าเทียมจากการเข้ามาทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง จนเกิดการเคลื่อนไหวโดยกองกำลังอาเจะฮ์เสรี (GAM) เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในช่วงปี 2532 กระทั่งปี 2541 หลังการโค่นล้มประธานาธิบดี ซูฮาร์โต้ จึงเกิดการเจรจาเพื่อสันติสุข แต่ก็มีการหยุดการเจรจาเป็นระยะ ๆ
จนกระทั่ง ปี 2547 อาเจะฮ์ได้รับผลกระทบจากสึนามิอย่างรุนแรง รัฐบาลอินโดนีเซียและอาเจะฮ์จึงเร่งรัดการเจรจา ข้อตกลงสันติภาพได้ลงนามในกรุงเฮลซิงกิ โดยรัฐบาลในกรุงจาการ์ตาและกองกำลังอาเจะฮ์ ในเดือนสิงหาคม 2548 ยุติความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนที่มีมานาน 28 ปี โดยอินโดนีเซียตกลงมอบการปกครองตนเองพิเศษแก่อาเจะฮ์
ขณะเดียวกัน ในยุคเริ่มต้นของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ของไทย ก็เกิดข่าวลือว่า กองกำลังในอาเจะฮ์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของรัฐบาลไทย ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้
เชื่อ ผบ.ทบ. เยือนอาเจะฮ์ เพื่อกดดันกลุ่มก่อความไม่สงบจากไทยที่หนีไปอินโดนีเซีย
ในวันอังคารเดียวกันนี้ อดีตแกนนำพูโล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การไปเยือนอินโดนีเซียครั้งนี้ของ ผบ.ทบ. อาจเพื่อกดดันแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่าหลบหนีไปอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
“เชื่อว่าเหตุผลที่ ผบ.ทบ.ไทยทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินโดฯ เพราะต้องการกดดันแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ หลังมีรายงานว่า มาเลเซียได้กดดันแกนนำอย่างมากตลอดที่ผ่านมา เพื่อให้ร่วมเจรจา แต่หลายคนไม่ยอมจึงต้องหนีไปอยู่ในประเทศอินโดฯ จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องร่วมทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินโดฯ ให้เข้ามากดดันแกนนำไม่ให้อยู่ในประเทศ และอาจเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกเป็นอินโดฯ แทนมาเลเซียด้วยในอนาคตเพื่อเอาใจ” แกนนำรายดังกล่าวระบุ
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า หากการทำสัญญาความร่วมมือของกองทัพบกไทยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นอาเจะฮ์ น่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้กระบวนการสันติสุข แต่ถ้าหากทำร่วมกับรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย น่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอินโดนีเซียจะสนใจเฉพาะเรื่องผู้ร้ายข้ามแดน
“ไทยน่าจะมีการเน้นในเรื่องของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเดียวมากกว่า ในการทำเอ็มโอยูในครั้งนี้ หรือถ้ารัฐบาลไทยต้องการรับทราบข้อมูลในการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการที่อยู่ภาคใต้ เพื่อให้รัฐบาลอินโดนีเซียช่วยในการส่งข้อมูลให้นั้น ค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงภายในมากกว่า"
"ซึ่งเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของมิติการแก้ปัญหาการเมืองในภาคใต้โดยตรง แต่จะมีการเน้นในเรื่องของความมั่นคงด้านเดียว แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้ได้ข้อมูลมากน้อยเพียงใด เพราะประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง จะไม่ส่งต่อข้อมูลความมั่นคงทางทหารไทยแน่ เนื่องจากติดหลักประชาธิปไตย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
“แต่ถ้าสมมุติว่า เป็นการแชร์ข้อมูลในเรื่องของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ในแง่ของการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ที่มีปัญหาข้ามประเทศ ระหว่างประเทศจริงๆ การแชร์ข้อมูลของกลุ่มเจไอ อัลกออิดะฮ์ ไอซิส ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภูมิภาคจริง ๆ อย่างนี้อาจจะมีการแชร์ข้อมูลกันได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นปัญหาภายในแต่ละประเทศแล้ว ตามหลักก็จะไม่ไปยุ่งกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เขาจะไม่ยุ่งกัน ในเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาของตัวเอง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมา ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียก็พยายามระมัดระวังในการให้ข้อมูลที่จะกระทบการจัดการภายในประเทศ เว้นแต่จะมีข้อมูลที่กระทบความมั่นคงระหว่างประเทศจริง ๆ