ศาลตัดสินจำคุกอานดี้ ฮอลล์ 3 ปี ข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.09.20
กรุงเทพฯ
TH-hall-1000 อานดี้ ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติพูดกับผู้สื่อข่าว ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังจากถูกศาลตัดสินมีความผิดทางอาญาคดีหมิ่นประมาทบริษัทผลิตสับปะรดกระป๋อง วันที่ 20 กันยายน 2559
เอเอฟพี

ในวันอังคาร(20 กันยายน 2559)นี้ ศาลมีคำสั่งจำคุกนายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมด้วยโทษปรับ 1.5 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี หลังจากที่ศาลพิพากษาให้นายอานดี้แพ้คดีที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) จากการที่นายอานดี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเขียนรายงานที่อ้างว่า บริษัทดังกล่าวละเมิดสิทธิแรงงานชาวเมียนมา

นายอานดี้ ฮอลล์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังทราบคำพิพากษาโดยระบุว่า เคารพการติดสินของศาล แต่มีหลายเรื่องที่ยังคงไม่เข้าใจในประเด็นความผิด และยืนยันว่าจะทำการอุทธรณ์โทษต่อไป

“ผมเคารพการตัดสินของศาล แต่ค่อนข้างตกใจ และสับสนกับคำตัดสิน เนื่องจากผมถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งในความจริงผมไม่ได้เป็นผู้นำเข้าข้อมูลสู่อินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง ผมเพียงมีส่วนร่วมกับการทำรายงาน อย่างไรก็ตาม ผมและทีมกฎหมายจะเดินหน้าต่อสู้ต่อ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ในการทำงาน และเชื่อว่าสุดท้ายจะได้รับความยุติธรรม” นายอานดี้กล่าว

นายอานดี้กล่าวอีกว่า การทำหน้าที่นักสิทธิแรงงานของตนเองนั้น เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ไม่ใช่การมุ่งโจมตีบริษัทใด บริษัทหนึ่ง หรือแม้แต่ประเทศไทย

“ผมพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานซึ่งเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงของประเทศไทย เราเรียกร้องให้นานาชาติสนใจปัญหานี้มากขึ้น เราไม่ได้เรียกร้องให้องค์กรต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย แต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงบทบาทของตัวเองในการแก้ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” นายอานดี้เพิ่มเติม

ด้านนายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ เจ้าของบริษัท เนเชอรัลฟรุต กล่าวว่า ผลการพิพากษาถือเป็นการคืนสิทธิที่ถูกละเมิดไปคืนสู่ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด และยืนยันว่า บริษัทปฎิบัติกับแรงงานทุกคนเป็นอย่างดี และถูกต้องตามกฎหมาย

“ข้อพิสูจน์ความจริง เราต่อสู้เพราะรู้ว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น(ละเมิดสิทธิแรงงาน) วันนี้ ต้องขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม ผมเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันต์นะครับ ทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย และต้องดีกับคนงานทุกคน ความเป็นอยู่ทุกคนก็แฮปปี้” นายวิรัชกล่าว

“ศาลพิสูจน์แล้วว่า เขามาละเมิดสิทธิของผมจริง คนชาติไหนก็แล้วแต่ อย่าคิดว่ามามีอำนาจเหนืออธิปไตยของประเทศไทย” นายวิรัชเพิ่มเติม

นายวิรัชระบุอีกว่า การเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย และสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับการขออุทธรณ์ นางสาวณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของนายอานดี้ ยืนยันว่า จะยื่นคำร้องภายใน 30 วัน แต่อย่างไรก็ตามต้องรอให้ได้รับคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์จากศาลเสียก่อน

คำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาระบุว่า นายอานดี้ ฮอลล์ มีความผิดจริงในคดีที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบอินเตอร์เน็ต หลังพบว่านายอานดี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานชื่อ “สินค้าถูกมีราคาสูง” (Cheap Has a High Price) ซึ่งเผยแพร่สู่ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ (www.finnwatch.org) จนส่งผลกระทบให้บริษัทได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง และรายได้

รายงานฉบับดังกล่าว อ้างว่าบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันต์ได้กระทำการละเมิดสิทธิแรงงานหลายข้อ เช่น การจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม มีการสุ่มหักเงินเดือนแรงงานโดยไม่มีเหตุผล มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก เป็นต้น

ซึ่งศาลระบุว่า ในขั้นตอนการสืบพยาน และหลักฐาน นายอานดี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ข้อความในรายงานฉบับดังกล่าวเป็นความจริง โดยนายอานดี้ไม่สามารถนำเทปบันทึกการสัมภาษณ์แรงงานที่อ้างว่าบริษัทได้ทำการละเมิดสิทธิมายืนยันต่อศาลได้ ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชการสามารถยืนยันได้ว่า เคยทำหน้าที่เข้าไปตรวจการทำงานของบริษัท แต่ไม่พบการกระทำผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน

ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่าการที่นายอานดี้เผยแพร่รายงานฉบับนั้นโดยไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากทางบริษัทถือเป็นความผิด ซึ่งระบุให้มีโทษใน 2 กรรม คือ กรรมแรกจากการเผยแพร่ข้อมูลสู่ระบบอินเตอร์เน็ต และกรรมที่สองจากการจัดแถลงข่าวเนื้อหารายงานดังกล่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ทำให้ต้องรับโทษจำคุก 2 ปี และเสียค่าปรับ 1 แสนบาทต่อกรรม รวม 2 กรรมคือมีโทษจำคุก 4 ปี และเสียค่าปรับ 2 แสนบาท

แต่เนื่องจากนายอานดี้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในชั้นศาล จึงลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี และปรับ 1.5 แสนบาท และการที่นายอานดี้เคยช่วยเหลือแรงงาน และไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลจึงมีคำสั่งให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

และหลังจากศาลพิพากษาคดีวันนี้ ศาลได้ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทาง และคืนหนังสือเดินทางให้แก่นายอานดี้แล้ว

ส่งผลให้เกิดความกลัว

นางสาวซอนญา วาร์เทียร์ลา ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟินน์วอทช์ กล่าวผ่านเว็บไซต์ว่า รู้สึกตกใจกับคำตัดสินของศาล และระบุว่า ถือเป็นวันที่น่าเศร้าที่นักปกป้องสิทธิแรงงานถูกปิดปาก

"เราตกใจกับคำตัดสินของศาลในวันนี้ รายงานถูกเขียนและเผยแพร่โดย Finnwatch เราต้องรับผิดชอบเต็มที่ อานดี้เป็นแพะรับบาป เพื่อที่จะปิดอีกหลายปากที่ออกมาพูดตามหลักการทางกฎหมาย ในการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ”

“วันนี้ถือเป็นวันที่น่าเศร้าใจ สำหรับการแสดงออกถึงเสรีภาพในประเทศไทย เราเกรงว่านักสิทธิมนุษยชน และเหยื่อของโรงงานที่ถูกละเมิดทั้งหลาย จะไม่กล้าเปิดเผยความจริงอีกแล้ว หลังจากรู้ผลการตัดสินในคดีนี้” นางสาวซอนญา กล่าว

นายลอเรนท์ มิลลาน ผู้แทนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจขององค์กรว่า รู้สึกกังวลกับการตัดสินจำคุกนักสิทธิแรงงานนายอานดี้ ฮอลล์ และระบุว่ารัฐบาลไทยต้องร่วมปกป้องการทำหน้าที่ของนักสิทธิ

“รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องปกป้องและให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชนด้วยแนวทางประชาธิปไตย แนวทางการพัฒนา และวิธีการบริหารประเทศ” นายลอเรนท์กล่าว

"แทนที่จะดำเนินคดีกับ นาย ฮอลล์ น่าจะเหมาะสมกว่าถ้าจะจัดให้มีการตรวจสอบที่เป็นอิสระ ดำเนินการสอบสวนทั้งหมดอย่างจริงจัง ตามข้อกล่าวหาในรายงานของ Finnwatch"

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของอานดี้ ฮอลล์

"อานดี้ ฮอลล์ได้ประสานงานการวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของแรงงานในประเทศไทย และเขาไม่ควรจะได้รับการดำเนินคดีในสิ่งที่เขาทำ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในคำแถลงการณ์

"ในคำตัดสินของศาล ได้ส่งผลให้เหล่านักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้อย่างยาวนานและโชกโชนเกิดความกลัว ในการผลักดันเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนงานในบริษัทต่างๆ ของไทยหลายแห่ง ซึ่งบริษัทหลายแห่งเหล่านั้น ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง