สตช.พร้อมร่วมมือตำรวจเยอรมัน หลังการจับกุมชาวไทยค้าประเวณี
2018.04.20
กรุงเทพฯ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมประสานขอข้อมูลจากตำรวจประเทศเยอรมนี หลังจากมีรายงานข่าวการทลายเครือข่ายค้าประเวณีข้ามชาติ ที่มีหัวหน้าขบวนการเป็นหญิงไทยวัย 59 ร่วมกับสามีชาวเยอรมันวัย 62 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมดำเนินคดีหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยด้วย
พล.ต.อ.ศรีวราห์ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ได้สั่งการให้กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตท.) และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมดำเนินคดีหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในขณะที่ผู้บัญชาการกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ระบุว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุที่เกิดในประเทศเยอรมันนั้น เป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ อย่างไรก็ดี ได้มีการจับตาเครือข่ายการค้าประเวณีในประเทศหากมีความเคลื่อนไหว
“ได้สั่งการให้สองหน่วยงานของตำรวจ คือ กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ประสานหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการปฏิบัติในทันที เมื่อได้รับการร้องขอ ถ้ามีมูลก็ดำเนินคดีทันที” รองผบ.ตร. กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่เยอรมันว่า ตำรวจเยอรมัน 1,500 นาย ปฏิบัติการกวาดล้างสถานที่ให้บริการทางเพศกว่า 60 แห่ง ใน 12 รัฐ จากทั้งหมด 16 รัฐ ของเยอรมนี โดยสามารถควบคุมตัวผู้หญิงและกลุ่มข้ามเพศชาวไทยได้ 56 คน ในนั้นเป็นหญิง 41 คน และยังพบผู้ต้องสงสัยว่าเป็น แกนนำขบวนการค้าโสเภณีข้ามชาติอีก 17 คน ซึ่งได้ใช้วีซ่าปลอมนำพาคนเหล่านั้นเพื่อเดินทางเข้าไปในประเทศกลุ่มเชงเกน ในแถบยุโรป
เอเอฟพี รายงานว่า ผู้ให้บริการทางเพศที่ทำงานสถานให้บริการนวด (massage parlor) ต้องจ่ายเงินทั้งหมดที่หามาได้เพื่อจ่ายค่านำพาเข้ามาทำงาน 20,000-45,000 ดอลล่าร์ (หรือประมาณ 6.2 แสน ถึง 1.4 ล้านบาท) ซึ่งนายอเล็กซานเดอร์ แบเดิล อัยการในแฟรงเฟิร์ต ได้แจ้งข้อหาหลบเลี่ยงภาษีแก่หัวหน้าแกงค์ นอกเหนือไปจากข้อหาการค้ามนุษย์ การบังคับให้ค้าประเวณี การหาค่าจ้างงานและยักยอกเงินค่าจ้างงาน
พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กล่าวว่า ในขณะนี้ ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ ส่วนการดำเนินคดีความผิดลักษณะนี้ในไทยนั้น ซึ่งต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ก่อน
พล.ต.ต.กรไชย กล่าวอีกว่า รูปแบบการค้าประเวณีในต่างประเทศ จะเป็นในลักษณะนักท่องเที่ยว มีการนัดหมายเจรจากันเป็นส่วนตัว มีวิธีการหลบเลี่ยงที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทราบได้ เพราะการออกนอกประเทศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนขบวนการค้าโสเภณีนั้น อาจจะเป็นบุคคลที่เคยไปขายบริการที่ประเทศนี้มาก่อน ชักชวนคนอื่นให้เข้าร่วม โดยใช้ความหรูหราและเงินทอง เป็นเครื่องจูงใจ คล้ายๆ กับการขายตรง
"คนที่เข้าไปทำลักษณะนี้ ไม่ได้มีเฉพาะคนจากประเทศไทยประเทศเดียว ก็มีคนจากประเทศอื่นด้วยที่เข้าไปทำลักษณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้เหลวแหลกขนาดนั้น จะบอกว่าไปค้ามนุษย์จะหมดคงไม่ใช่ ตอนนี้ ขอให้รอหลักฐานที่แน่นอนก่อน" พล.ต.ต.กรไชย กล่าว
กระทรวงแรงงานเปิดเผยข้อมูลสถิติแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเยอรมันช่วงปี 2558–2561 ว่ามีจำนวน 573 คน ซึ่งประมาณสองร้อยคน แจ้งความจำนงขอเดินทางเอง ส่วนใหญ่ทำอาชีพพ่อครัว-แม่ครัว นวดแผนโบราณ ซึ่งทุกคนต้องแสดงเอกสารทุกอย่างตามกฎหมายกำหนด ก่อนออกเดินทาง
ประเทศเยอรมันนี มีกฎหมายการค้าประเวณีและกฎหมายคุ้มครองผู้ค้าประเวณี ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วถึงทั้งประเทศ และกฎหมายนี้ทำให้สถานภาพทางกฎหมายของผู้ค้าประเวณีดีขึ้นอย่างชัดเจน ธุรกิจการขายบริการทางเพศจึงมีสถานภาพที่ถูกกฎหมาย หากมีกฎหมายที่เข้มงวด และต้องมีการจ่ายภาษีในอัตราสูง
ขบวนการค้าประเวณีในประเทศไทย
สำหรับขบวนการค้าประเวณีในประเทศไทย ผู้บังคับการ ปคม. ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามกลุ่มใหญ่ๆ มาตลอด มีการทำประวัติและจับตาสอดส่องความเคลื่อนไหว
“กลุ่มในประเทศไทย เป็นกลุ่มสบโอกาส เป็นเรื่องคนเคยทำอาชีพนี้ แล้วผันตัวเองจากผู้ขายมาเป็นเจ้าของกิจการ อย่างเล็กๆ ก็มี 10-20 คน อีกกลุ่มมี 10 คน ก็เอามารวมๆ กัน ซึ่งพวกนี้เราทำเป็นข้อมูลเก็บไว้อยู่... กลุ่มใหญ่จะอยู่ในโซนภาคอีสาน ซึ่งเรามีชื่ออยู่และจับตาดูอยู่” พล.ต.ต.กรไชย กล่าว
ผู้บังคับการ ปคม. ยืนยันด้วยว่า ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมาย ปรับปรุงเรื่องโทษทางอาญา การกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์นั้นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยยกตัวอย่าง “คดีบ้านน้ำเพียงดิน” ที่จำเลยรายสำคัญสามราย ถูกศาลตัดสินจำคุกระหว่าง 167 ปี ถึง 320 ปี ทำให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว
ในคดีนี้ เมื่อวันเดียวกันกับการทลายแหล่งค้าประเวณีชาวไทยในเยอรมนี ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกนางสาวปิยวรรณ สุขมาก 167 ปี นางสาวปิยทัศน์ ภาพเทียนสุวรรณ 176 ปี และ ด.ต.ยุทธชัยทองชาติ 320 ปี ตามฐานความผิดที่ได้จัดหาเด็กหญิงอายุเพียง 14 ปี เพื่อการค้าประเวณี และการพรากผู้เยาว์
คุณนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยต้องการจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือการบังคับค้าบริการทางเพศ ให้สำเร็จได้นั้น ทางการจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้เสียหาย และเปลี่ยนทัศนคติในการมองเหยื่อว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม
“...เพราะหากรัฐหรือสังคมยังมองเหยื่อการค้ามนุษย์ในลักษณะไม่ดี เหยื่อเหล่านั้นไม่มีทางให้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการนี้ได้ และปัญหาการค้ามนุษย์ หรือบังคับค้าบริการ ไม่มีทางถูกแก้ไขได้อย่างแท้จริง” คุณนัยนา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์