สภาผู้ส่งออกฯ คาด ส่งออกไทยติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะโควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.07.07
กรุงเทพฯ
200707-TH-economy-export-1000.jpg คนงานขณะคัดแยกข้าวที่โรงงานเอเชียน เพนนินซูลา คอร์ปอเรชัน จำกัด ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อ 29 กันยายน 2554
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้แถลงผลการคาดการณ์สถานการณ์การส่งออกสินค้าของประเทศไทย โดยระบุว่า ปี 2563 นี้ การส่งออกของประเทศไทยอาจติดลบถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแข็งตัวของค่าเงินบาท โดย สรท. เสนอให้รัฐบาลเยียวยาผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ และสร้างเสถียรภาพค่าเงินบาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยในการแถลงข่าวที่ สำนักงาน สรท. ระบุว่า ภาคสินค้าเกษตรเป็นภาคเดียวที่ขยายตัว ขณะที่ภาคสินค้าอื่นหดตัว ส่งผลให้คาดการณ์การส่งออกติดลบ

“ปีนี้เราจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเลขคาดการณ์การส่งออก แต่เดิมซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ทาง สรท. คาดการณ์ว่าจะติดลงอยู่ที่ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับปีก่อน ปรากฎว่า ในการส่งออกปีนี้ เฉลี่ยทั้งปีเราคาดการณ์ว่า จะต้องลบลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลกระทบด้านโควิด ผลกระทบจากค่าเงินด้วย เพราะค่าเงินบาทของเราแข็งค่ากว่าสกุลอื่น ๆ ทั้งกับประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เรื่องของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเราอาจจะลดลง” นางสาวกัณญภัค กล่าว

นางสาวกัณญภัค ระบุว่า การคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ค่าเงินบาทมีมูลค่า 31 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋องแปรรูป เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคมีอุปสงค์ในสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพช่วงการกักตัวและการฟื้นฟูเพิ่มขึ้น

สถิติการส่งออกปี 62 ของสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกอาหารไทย มีมูลค่าสูงสุด มูลค่า 1,025,500 ล้านบาท ขณะที่ รถยนต์และส่วนประกอบมูลค่า 9.28 แสนล้านบาท และคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 6.33 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ปี 2562 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า การส่งออกของไทยทั้งปี 2562 มีมูลค่า 246,244 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบร้อยละ 2.65 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ติดลบร้อยละ 5.78 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,639 ล้านดอลลาร์ ติดลบร้อยละ 4.66 ได้ดุลการค้า 9,604 ล้านดอลลาร์

สรท. ระบุว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 22.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 524,584 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวนั้น เนื่องมาจาก 1. การหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศ และอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ 2. ปัญหาการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศที่ไม่สามารถทำได้ในหลายเส้นทาง 3. ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้า 4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 5. ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 และ 6. ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายคงฤทธิ์ จันทริก อำนวยการบริหาร สรท. ระบุว่า สรท. เสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการ 4 แนวทางหลักเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาในปีนี้

“เสนอแนะให้รัฐบาล 1. สนับสนุนยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและการจัดการโลจิสติกส์ ทำข้อตกลงขององค์การการค้าโลก และร่วมเจรจาเขตการค้าเสรี ลดข้อจำกัดด้านพิธีการศุลกากร ช่วยเหลือด้านประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงลดอากรขาเข้า 2. พิจารณาการลงทุนเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนคุ้มค่า กำหนดนโยบายการเก็บภาษีตามขั้นบันไดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ คุมเงินฝากและเงินกู้ เร่งรัดการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้ทันสมัย และรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการค้าระหว่างประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของรายได้” นายคงฤทธิ์ กล่าว

นายคงฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจำเป็นต้อง 3. สนับสนุนภาคธุรกิจไปสู่ระบบอัตโนมัติ และสร้างแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัล สนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณฝึกอบรมให้กับแรงงาน และลดต้นทุนการจ้างแรงงานต่างด้าวตามกฎหมาย สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ SMEs และนำใช้การจ่ายเงินระบบดิจิทัล ส่งเสริมการพยากรณ์ความต้องการระวางขนส่งสินค้าล่วงหน้า และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจธรรมาภิบาลในองค์กร 4. ปรับปรุงระบบการค้าขายกับต่างประเทศให้เป็นมิตรมากขึ้น ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการคำนวณการปล่อยมลภาวะของภาคอุตสาหกรรม เกษตร และขนส่ง และยกระดับหลักสูตรการพัฒนาบุคคลากรด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า กรุงศรีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว 10.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2541 แต่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตที่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2564

ดร.สมประวิณ ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเกิน 10 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ อาจทำให้การบังคับใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูงจึงเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปีนี้จะลดลงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง (Travel Bubble Policy) แต่คาดว่า ณ กลางปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน รวมทั้ง การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบ อาจทำให้แรงงานในไทยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบในช่วงที่ระบาดหนักที่สุด และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะยังมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ไม่ได้มีการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ แต่กรมควบคุมโรครายงานว่า วันอังคารนี้ ไทยไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมคงที่ 3,195 คน มีผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,444 คน และผู้ติดเชื้อที่พบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 258 คน มีผู้ที่หายป่วยสะสมอยู่ที่ 3,072 คน และผู้เสียชีวิตคงที่ 58 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง