ไทยจะรวบรวมผลกระทบจากเขื่อนจีน เสนอ 'ประชาคมลุ่มน้ำโขง'

บุษบา ศิวะสมบูรณ์ และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.01.14
กรุงเทพฯ
200114-TH-mekong-drought-1000.jpg ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นความแห้งแล้ง ในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย วันที่ 28 ตุลาคม 2562
เอเอฟพี

ประเทศไทยจะนำข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเข้าพูดคุยในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว หลังจากที่ประชาชนริมฝั่งโขงได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างหนัก จากการกักน้ำของเขื่อนในประเทศจีน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน สทนช. ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแม่น้ำโขงลดระดับแล้ว โดยจะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวพูดคุยกับประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) (Mekong River Commission - MRC) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

“ปัจจุบัน แม่น้ำโขงมีความผันผวนจากหลายสาเหตุ เราให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ และตะกอนด้วยการตรวจวัด เราได้ติดตั้งเครื่องมือวัดระดับน้ำในหลายจุด เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ที่เกิดกระทบกับพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาเราก็รวบรวมข้อห่วงใยต่างๆ จากภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง เราได้ศึกษาข้อกังวลเหล่านั้น และเราสรุปประเด็นเหล่านี้ แจ้งไปยังหน่วยงานที่บริหารจัดการอยู่ต้นน้ำ.. ปีนี้ในการประชุมร่วมกันของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เราก็จะประชุมปัญหา และนำขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในเดือนกุมภาพันธ์” นายสมเกียรติ กล่าว

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานประสานระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แจ้งเตือนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า  สัปดาห์นี้ น้ำในแม่น้ำโขงอาจจะลดระดับลงครึ่งหนึ่งตลอดสาย คลุมพื้นที่ตั้งแต่ประเทศจีน จนถึง 5 ประเทศท้ายน้ำ โดยการคาดการณ์ครั้งนี้ระบุว่า ระดับน้ำจะลดต่ำลงถึง 70 เซนติเมตร ในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย และต่ำลงประมาณ 25 เซนติเมตร ในกัมพูชา เนื่องจากรัฐบาลจีนประกาศว่า เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนจะมีการทดสอบระบบ

ในเตือนตุลาคม 2562 ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในประเทศไทย แต่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างของประเทศลาว ก็ได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยชาวบ้านเชื่อว่า เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งมูลค่าการก่อสร้าง 1.35 แสนล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,285 เมกกะวัตต์ และวางแผนจะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ 95 เปอร์เซ็นต์ให้กับประเทศไทยแห่งนี้ จะขวางทางน้ำ และยิ่งทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งลงไปอีกในช่วงฤดูแล้ง ชาวประมงลุ่มน้ำโขงยังระบุว่า ปลาจำนวนมากสูญพันธุ์ไป หลังการทดสอบระบบของเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนที่ประเทศจีน

แม่น้ำโขง ซึ่งมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาหลายร้อยชนิด

ในการประชุมร่วมระหว่างจีน และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง จีนได้ประกาศจุดยืน “อยู่บนแม่น้ำสายเดียวกัน และมีอนาคตร่วมกัน” โดยจีนหวังจะเชื่อมยูนนาน สู่เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจีนเชื่อว่า แผนการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกว่า 240 ล้านคน ได้รับผลประโยชน์

“สิ่งที่ต้องการคือ รัฐบาลไทยต้องพูดคุยกับรัฐบาลจีน เพื่อจะได้รู้ว่า จีนมีแผนบริหารน้ำอย่างไรในระยะเวลา 3-6 เดือน เอาแผนออกมากาง เราถึงจะรู้ว่า น้ำจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะการบอกล่วงหน้าเพียงแค่ 3-5 วัน เกือบไม่มีประโยชน์ เอาไปบริหารอะไรไม่ได้ เราอยากเห็นแผนระยะยาว” นายมนตรี จันทวงศ์ นักสิ่งแวดล้อมจากกลุ่ม The Mekong Butterfly (เดอะแม่โขงบัตเตอร์ฟลาย) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนจินฮงในประเทศจีนได้ทดสอบระบบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการเปิดเผยของกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย-ลาว เข้าสู่ภาวะวิกฤต ก่อนที่การทดสอบดังกล่าวจะเพิ่งเสร็จสิ้น ในวันที่ 4 มกราคม 2563 นี้

“เราจะศึกษาหาสาเหตุร่วมกันกับประเทศอื่น เพราะไม่อยากด่วนสรุปว่า ปัญหาน้ำไร้ตะกอน หรือน้ำแห้ง เกิดจากการกักเก็บน้ำ หรือปั่นกระแสไฟฟ้า หรือปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจีนและลาวเองก็มีความประสงค์จะศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะแก้ไขปัญหาต่อไปด้วยเช่นกัน ตอนนี้ เราก็แลกเปลี่ยนข้อมูลการระบายน้ำ ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ ข้อมูลระดับน้ำในพื้นที่ให้กันไปมา เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยในระยะถัดไปจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างเป็นทางการ” นายสมเกียรติ กล่าว โดยระบุว่า จะนำปัญหาทั้งหมดเข้าประชุม ในการประชุมที่จะมีขึ้นที่ ประเทศลาว ในเดือนกุมภาพันธ์

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่า การทดสอบระบบของเขื่อนในประเทศจีน คือการทดสอบอะไร น้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย จุดซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย-เมียนมา-ลาว ได้ลดระดับลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จากระดับน้ำ 3 เมตร เหลือต่ำกว่า 1 เมตร นายไบรอัน แอร์เลอร์ ผู้อำนวยการ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ได้กล่าวแก่สำนักข่าวอัลจาซีรา

การขึ้นลงของน้ำอย่างกระทันหัน สร้างความสับสนให้กับกระบวนการวางไข่ของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนปลาในแม่น้ำโขง “เพื่อระบบนิเวศน์ที่ดีของแม่น้ำ จำเป็นอย่างมากที่ระดับน้ำจะต้องขึ้นลงอย่างปกติ ไม่ใช่การขึ้นลงอย่างฉับพลัน” นายไบรอัน กล่าว

ความทุกข์ของชาวบ้านริมโขง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้าลาว มีเป้าหมายที่จะซื้อไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จากกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์ของเขื่อนไซยะบุรี และดอนสะโฮง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านริมฝั่งโขง ระบุว่า เขื่อนในแม่น้ำโขงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก

“ความแห้งแล้งถือว่าแล้งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปัจจัยหลักนอกจากฝนตกน้อยแล้ว ยังประกอบกับการถูกควบคุมน้ำโดยเขื่อนในประเทศจีน และลาว ทำให้เกิดการขึ้นลงของน้ำที่ผิดธรรมชาติ การขึ้นลงของปลาก็จะผิดธรรมชาติ การไม่มีตะกอนก็ทำให้ปลาอพยพผิดฤดู โดยเริ่มอพยพในเดือนพฤศจิกายน ทั้งที่จริงๆควรจะอพยพในเดือนมกราคม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ปลาน้อยลง” นายมนตรี จันทวงศ์ นักสิ่งแวดล้อมจากกลุ่ม The Mekong Butterfly (เดอะแม่โขงบัตเตอร์ฟลาย) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ปัจจุบัน สภาพน้ำโขงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ไร้ตะกอน น้ำใสมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 สิ่งที่ตามมาคือ เกิดสาหร่ายขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้การทำประมงมีความยากมากขึ้น เพราะสาหร่ายพวกนี้จะเกาะตามตาข่ายดักปลา มีผลกระทบกับการทำประมงของชาวบ้าน” นายมนตรี ระบุ

ด้าน ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของน้ำในแม่น้ำโขงอย่างรุนแรงนั้น เกิดขึ้นหลังจากการเริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีี

“ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมามีการเปิดเขื่อนไซยะบุรีทำให้น้ำโขงแห้งมาก ปกติ มิถุนายน-สิงหาคม น้ำโขงจะสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มันแห้งขอด ปลาที่ไปวางไข่ตามบุ่ง ตามหนองมันตาย ปัจจุบัน น้ำขึ้นสองวัน ลงสามวัน ไม่มีความแน่นอน"

"ชาวประมงไม่สามารถหาปลาได้ เพราะน้ำมันใสมาก ปลาไม่มีเหมือนเดิม” นายสมาณ แก้วพวง ชาวบ้านจากริมแม่น้ำโขง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง