สภาอนุมัติแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนเพิ่มอีกสองลำ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.01.15
กรุงเทพฯ
200115-TH-CH-submarines-1000.jpg บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำแบบจำลองเรือดำน้ำรุ่นต่างๆ รวมทั้ง รุ่น S-26T มาแสดงในงาน Defense and Security 2017 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กองทัพเรือเตรียมที่ดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ลำที่ 2 และ 3 ภายในเดือนมีนาคม 2563 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ผ่านงบประมาณสำหรับการจัดซื้อซึ่งอยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียบร้อยแล้ว

พลเรือโทประชาชาติ กล่าวว่า รายละเอียดการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนอีกสองลำ จะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้ และจะเริ่มมีการส่งคนไปเรียนการใช้งานเรือดำน้ำภายในปีนี้

“แผนจัดซื้อประจำปี อนุมัติหลักการให้ดำเนินการได้ต่อเป็นการดำเนินการซื้อลำที่ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมการการจัดซื้อก็จะดำเนินการจัดซื้อต่อเนื่อง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ก็จะมีการประกาศการจัดซื้อตามระบบออกมา เป็นการจัดซื้อจากจีนเหมือนเดิม เพราะเป็นไปตามแผนหลัก” พลเรือโทประชาชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 8 มกราคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติที่ประชุม 247 ต่อ 195 เสียง เห็นชอบมาตรา 8 ของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และมีส่วนของการจัดซื้อเรือดำน้ำรวมอยู่ด้วย ทำให้กองทัพเรือจะเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ จากจีน ตามแผนการเดิมที่อนุมัติไปในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ในวันเดียวกัน พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวต่อสื่อมวลชนที่หอประชุมกองทัพเรือว่า การคัดเลือกคนที่จะไปฝึกใช้เรือดำน้ำจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเหนือจากทหารเรือปกติ

“เรือดำน้ำมันจบไปนานแล้ว ไอ้เรื่องมีไม่มีน่ะ ตอนนี้มันเดินไปตามแผนงานตามโครงการ ตามยุทธศาสตร์ ก็ดำเนินการซื้อจ้างตามปกติของทางราชการ ไม่มีแปลกใหม่เลย” พลเรือเอกลือชัย กล่าว

“(การส่งกำลังพลไปฝึกหัด) จะเริ่มของลำ 1 ก่อน เดี๋ยวส่งคนไปเรียน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ขั้นต่ำ คนไปฝึก พูดคร่าวๆ ว่า เขาเหนือกว่าคนผิวน้ำปกติ มันต้องเตรียมคน ไม่ใช่บอกใครไปก็ได้ มันต้องมีกระบวนการคัด เขาต้องดำน้ำได้ เราต้องเตรียมคน แต่ขั้นตอนเป็นความลับ” พลเรือเอกลือชัย กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน แบบ S26T ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan Class หรือ Type 039B) จำนวน 1 ลำ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ โดยบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดย พลเรือเอกลือชัย ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ทางกองทัพเรือ มีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำ รวมสามลำ คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S26T จากประเทศจีน 1 ลำ ใช้เงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560

การจัดซื้อครั้งนี้ พลเรือเอกลือชัย เป็นผู้ลงนามร่วมกับบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ผู้แทนรัฐบาลจีน ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 เป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการวางกระดูกงูเรือดำน้ำลำแรกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561 การเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำแรก ซึ่งใช้งบประมาณ 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด เริ่มจ่ายงวดแรกปี 2560 เป็นเงิน 700 ล้านบาท และงวดที่เหลือระหว่างปี 2561-2566 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท เดือนกันยายน 2561 จีนได้เริ่มต่อเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

ส่วนลำที่ 2 และ 3 จะทยอยจัดซื้อให้แล้วเสร็จภายใน 11 ปี หรือก่อนปี 2570 ซึ่งกองทัพเรือได้ทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลขอจัดซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวน S26T พร้อมกันทั้ง 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ 2.25 หมื่นล้านบาท รวมทั้งงบก่อสร้างที่จอดเรือ อีก 900 ล้านบาท ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพันตั้งแต่ปี 2563-2569 ดังนั้น งบประมาณดังกล่าวจึงถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของมาตรา 8 ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 ด้วย

โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ณ อาคารรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณามาตรา 8 ของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 โดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ก็ได้อภิปรายถึงความไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำที่เหลือด้วยเช่นกัน

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 ณ อาคารรัฐสภา ระบุว่า การซื้อเรือดำน้ำไม่มีความเหมาะสมคุ้มค่า และจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ต่อไปถึงปี 2569

“สถานการณ์ ไม่ใช่การซื้อ 2 แถม 1 อย่างที่เป็นข่าว ข้อมูลอย่างเป็นทางการเป็นงบผูกพัน ปี 60-66 อันนี้เราแตะไม่ได้นะ เพราะอนุมัติไปแล้วในรัฐบาล คสช. เมื่อปี 60 แต่เราต้องจ่าย แต่ตอนนี้ในปีงบประมาณ 2563 เรากำลังจะซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ ซึ่งอำนาจอนุมัติอยู่ตรงนี้ ถ้าผ่านจุดนี้ไปจะต้องเป็นหนี้อีกเรื่อยๆ เรียกว่า จ่าย (ปี) 63 / 3 พันกว่าล้านบาท แล้วก็จ่ายถึง (ปี) 69 เนี่ย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.25 หมื่นล้านบาท สภา คือความหวังสุดท้ายของประชาชนที่จะหยุดผลพวกของรัฐประหาร” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงคะแนนเสียง ส.ส. ส่วนมาก 247 ต่อ 195 เสียง เห็นชอบมาตรา 8 ของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 ทำให้กองทัพเรือจะเดินหน้าจัดซื้อตามแผนต่อไป

ประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้ปลดประจำการไปนานแล้ว ดังนั้น โครงการการซื้อเรือดำน้ำจึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไทยเคยพิจารณาแผนการซื้อเรือดำน้ำมือสอง จากประเทศเยอรมนี หรือเรือดำน้ำใหม่ จากประเทศสวีเดน แต่ไม่ผ่านอนุมัติรัฐสภา หากเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำจากประเทศจีนแล้ว ของจีนมีราคาถูกกว่าถึงสามเท่า

อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึง เรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาว่า เป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งราคาสูงมาก ประเทศไทยไม่มีกำลังจะซื้อได้ ซึ่งทางกองทัพเรือยังแจงเหตุผลการเสนอขอซื้อเรือดำน้ำจีนด้วยว่า เรือดำน้ำจีนมีระบบขับเคลื่อนโดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจนสิ่งแวดล้อม หรือระบบ Air Independent Propulsion สามารถดำได้นานต่อเนื่องถึง 21 วัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง