ดีเอสไอร่วมตำรวจจับ 7 แรงงานเมียนมา ลักลอบเข้าเมืองที่สุไหงโกลก

มาตาฮารี อิสมาแอ
2020.04.28
นราธิวาส
200428-TH-myanmar-trafficking-1000.jpg เจ้าหน้าที่ขณะกำลังตรวจโรคแรงงานต่างด้าว 7 ราย ซึ่งลักลอบหนีเข้าเมืองและหลบอยู่ใน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส วันที่ 28 เมษายน 2563
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส เข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 7 คน ซึ่งลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศมาเลเซีย และพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในอำเภอ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส โดย 4 ใน 7 ราย อายุต่ำกว่า 18 ปี และมีแผนที่จะกลับเข้าไปยังประเทศมาเลเซีย หลังจากหมดสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันของ นายปภาวิน มรรยาวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 3 กองคดีการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัย ซึ่งเชื่อว่ามีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่

“เข้าทำการตรวจสอบที่บ้านเช่าเลขที่ 67 ถ.ทรายทอง 1 ซอย 7 ต.สุไหงโกลก หลังสืบทราบมีนายหน้ากลุ่มค้ามนุษย์ข้ามชาติ ใช้บ้านเช่าหลังดังกล่าวเป็นที่พักพิงของแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา เมื่อถึงเป้าหมายเจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวเพื่อขอตรวจค้น พบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 7 คน อาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 5 คน ซึ่ง 4 คนมีอายุต่ำกว่า 18 ปี” พ.ต.ต. สิริวิชญ์ กล่าว

พ.ต.ต. สิริวิชญ์ ระบุว่า บ้านหลังดังกล่าวเชื่อว่า เป็นของนายหน้าค้ามนุษย์ ซึ่งคาดว่าได้หลบหนีไปก่อนเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น

“ภายในบ้าน เจ้าหน้าที่พบหนังสือเดินทางเกือบ 100 เล่ม พร้อมอุปกรณ์เสพยาไอซ์ สอบสวนเบื้องต้นทราบว่า กลุ่มบุคคลต่างด้าวทั้ง 7 คน ได้แอบลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยเข้ามาฝั่งไทยตามช่องทางธรรมชาติ แล้วนายหน้าได้ให้มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าเป็นการชั่วคราว โดยรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศมาเลเซียคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วนายหน้าจะส่งกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซียต่อ แต่ถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุมเสียก่อน”​ พ.ต.ต. สิริวิชญ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังการจับกุม พ.ต.ต. สิริวิชญ์ ระบุว่า ดีเอสไอได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.สุไหงโกลก เพื่อให้เดินทางมาทำการตรวจคัดกรองโรคตามกระบวนการ โดยพบว่าบุคคลต่างด้าวทั้ง 7 คน มีอาการปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจึงได้ส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงโกลก ดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

ต่อจากนั้น จะได้มีการจัดสถานที่เพื่อกักตัวดูอาการ 14 วัน ว่ามีบุคคลใดที่ติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่ประเทศมาเลเซียหรือไม่ ก่อนที่จะมีการผลักดันกลับประเทศต่อไป ส่วนกรณีหน้านายที่หลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทราบเบาะแสแล้ว เป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ที่ใช้พื้นที่ประเทศไทย ส่งแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่เคยจับกุมนายหน้ากลุ่มนี้ได้แล้วหลายคน

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศปิดประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีแรงงานต่างชาติในประเทศมาเลเซียจำนวนมากได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมารัฐบาลไทยได้เปิดชายแดนรับแรงงานไทยกลับบ้าน อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วัน18 เมษายน 2563 ที่ด่านพรมแดนทางบก 5 ด่าน ได้แก่ ด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส, ด่านเบตง จ.ยะลา, ด่านสะเดา จ.สงขลา, ด่านตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล และด่านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล โดยรัฐบาลอนุญาตให้คนไทยเดินทางผ่านแดนได้ทั้ง 5 ด่าน 350 คนต่อวัน โดยกำหนดให้ต้องลงทะเบียนกับทางสถานทูตไทยในมาเลเซีย เพื่อขอหนังสือรับรอง รวมทั้งขอใบรับรองสุขภาพ (Fit-to-Travel) จากแพทย์ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม มีประชาชนไทยบางส่วนที่ไม่สามารถทำตามมาตรการกลับประเทศได้ จึงลักลอบหลบหนีเข้าประเทศ โดยพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวไว้ได้เกือบ 1 พันคนแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 มีการขุดพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาลักลอบนำเข้าเมือง บนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้เริ่มฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2556 ต่อจำเลย 88 คน และภายหลังได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา ในเดือนตุลาคม 2558 และสามารถจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้น รวมเป็น 103 ราย กระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนจำคุกอดีตพลโท มนัส คงแป้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ โดยปรับโทษเพิ่มเป็นจำคุก 82 ปี และได้สั่งจำคุกจำเลยที่ถูกยกฟ้องในศาลชั้นต้น เพิ่มอีก 26 ราย รวมเป็นทั้งสิ้น 88 คน ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง